ในยามนี้นอกจากคนไทยยังต้องหวาดผวาและอยู่กับโรคโควิด-19 เป็นปีที่ 3 แล้ว ปัญหาใหญ่สุดที่ต้องเผชิญคือ ราคาสินค้าทั้งอาหาร น้ำมัน แก๊สหุงต้ม วัตถุดิบอาหารสัตว์ วัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมการผลิต ปุ๋ย เหล็ก วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ฯลฯ ดาหน้าปรับราคาสูงขึ้น ดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพของคนไทยพุ่งไม่หยุด หนี้ครัวเรือนกระฉูด สวนทางรายได้คนไทย และค่าจ้างแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้น สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาใหญ่สุดของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ อันดับแรกคือ เรื่องเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น เดือนมีนาคมล่าสุด อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น 5.7% สูงสุดในรอบ 13 ปี ผลจากสินค้าแพง ค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกล่าสุด (21 เม.ย.) ยังอยู่เหนือระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลราคาน้ำมันขายปลีกในไทย ราคาสินค้า และเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงไปตลอดทั้งปีนี้
ทั้งนี้จากที่รัฐบาลประกาศสิ้นสุดเดือน เม.ย.จะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท และจะสนับสนุนราคาส่วนเพิ่มร้อยละ 50 ในเดือนพ.ค. และมิ.ย. ซึ่งปัจจุบันราคาตลาดน้ำมันดีเซลหากไม่ตรึงราคาจะอยู่ที่ประมาณลิตรละ 41 บาท หากเลิกตรึงและรัฐบาลจ่ายส่วนเกินครึ่งหนึ่ง ราคาดีเซลจะอยู่ที่ประมาณ 35-36 บาทต่อลิตร ขณะที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร 3 เดือนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้ หากรัฐบาลไม่ต่ออายุการลดภาษีหรือไม่มีมาตรอื่นออกมาช่วย ราคาดีเซลก็จะบวกเพิ่มขึ้นอีก 3 บาทต่อลิตร
“ราคาดีเซลที่ปรับเพิ่มจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคโลจิสติกส์ ภาคขนส่งทั้งขนส่งวัตถุดิบ ขนส่งสินค้าสำเร็จรูป ปัจจุบันค่าโลจิสติกส์ เป็นต้นทุนของราคาสินค้าเฉลี่ยประมาณ 15% ต้องรอดูว่าสหพันธ์การขนส่งทางบกฯจะปรับขึ้นค่าขนส่งหรือไม่ จากเดิมมีแผนจะปรับขึ้น 15-20% หากดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร หากเขาปรับเพิ่มตามนี้ จะมีผลให้ต้นทุนราคาสินค้าต้องปรับขึ้นไปอีกประมาณ 3-5% และราคาขายปลีกไปถึงมือผู้บริโภคอาจปรับเพิ่มขึ้น 5-10%”
ประธาน ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาสินค้าแพง หนี้ครัวเรือนสูง ค่าครองชีพสูง ทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว เช่น การตรึงราคาค่าไฟฟ้าช่วยประชาชน แต่หากไม่สามารถตรึงได้อาจใช้มาตรการให้ส่วนลดค่าอัตราไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ที่ล่าสุดรัฐบาลจะให้ส่วนลดค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน(พ.ค.-ส.ค.) ขอให้เพิ่มเป็นมากกว่า 300 หน่วย เพราะช่วงนี้หน้าร้อนบ้านเรือนเปิดเครื่องปรับอากาศมาก และใช้ไฟฟ้ามากกกว่า 300 หน่วยต่อเดือน
นอกจากนี้ให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ เน้นเพิ่มการจ้างงาน เช่น ให้บีโอไอเร่งบริษัททั้งไทยและต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมได้ลงทุนจริงเร็วขึ้น รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีอนาคต แข่งขันได้ และสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหากคนไทยมีงานทำและมีรายได้เพิ่มจะช่วยลดหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันสูงกว่า 90% ของจีดีพีลงได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีข้อเสนอรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชนสู้ของแพง ค่าครองชีพสูง เช่น ขอให้รัฐบาลยกเลิกการลงทะเบียนเข้าประเทศไทยของต่างชาติผ่านระบบ Thailand Pass และ Test & Go เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงนักท่องเที่ยว ผลักดันโครงการ “คนละครึ่ง” ในเฟสที่ 5 และผลักดันต่อเนื่องโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยภาคบริการ ประชาชน และเอสเอ็มอีในพื้นที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่ม
นอกจากนี้ให้เร่งประกาศให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นเร็วขึ้นจากเดือน ก.ค.เพื่อดึงนักท่องเที่ยวแข่งกับประเทศอื่น และช่วยฟื้นกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ต้องรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน ขณะที่ปุ๋ยเคมีแพงต้องส่งเจ้าหน้าไปช่วยแนะนำเกษตรในการใช้ปุ๋ยอย่างประหยัด แต่ยังได้ผลผลิตที่ดี เป็นต้น
ด้านแหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน เผยว่าถึงสถิติการร้องเรียนของประชาชนผ่านสายด่วน 1569 ของปี ปี 2565 (ม.ค.-20 เม.ย.) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,058 คำร้อง โดยพฤติกรรมที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ ไม่ปิดป้ายแสดงราคา 609 คำร้อง, จำหน่ายราคาแพง 159 คำร้อง, แสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย 87 คำร้อง สินค้าที่ถูกร้องเรียนมากสุดคือ อาหารปรุงสำเร็จ 122 คำร้อง รองลงมาคือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป 83 คำร้อง และไข่ไก่ 47 คำร้อง
“สำหรับสินค้าที่ขอปรับขึ้นราคาในช่วงนี้กรมได้เชิญผู้ผลิตมาหารือ ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไว้ก่อน ที่ผ่านมามีเอกชนขอปรับราคาหลายรายแต่ยังไม่มีการอนุมติ มีเพียงปุ๋ยเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะหากไม่ให้มีการปรับอาจส่งผลให้ปุ๋ยขาดตลาดได้จากส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ”แหล่งข่าว กล่าว
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ภาครัฐเตรียมปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลโดยเลิกตรึงไม่เกินลิตรละ 30 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ ทางสหพันธ์ฯเห็นว่าภาครัฐยังมีหลายแนวทางที่จะช่วยผู้ประกอบการขนส่งได้ เช่น ลดการใช้น้ำมันไบโอดีเซลชั่วคราว ซึ่งจะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ 1.50- 2.0 บาทต่อลิตร การกำหนดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเท่ากับภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน จะช่วยลดราคาน้ำมันลงอีก 2-3 บาท หากดำเนินการได้ตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่ามีการปรับขึ้นราคาสินค้าบางส่วนแล้ว หากมีการปรับขึ้นค่าขนส่งจะกระทบต่อประชาชนและราคาสินค้า ทางสหพันธ์ฯมีแผนที่จะปรับขึ้นค่าขนส่งที่ 15% เพราะจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ต้องรอดูสถานการณ์จากภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไร คาดจะได้ความชัดเจนภายในเดือนเมษายนนี้ ว่าจะเริ่มปรับขึ้นค่าขนส่งได้เมื่อไร จากปัจจุบันมีการหยุดให้บริการรถบรรทุกแล้ว 20% เพราะถ้ามีการวิ่งรถเป็นจำนวนมาก จะทำให้ขาดทุนอีก
“รัฐบาลในยุคที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเคยปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร แต่เขาเลือกใช้วิธีการลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0 และช่วยชดเชยให้กับผู้ประกอบการขนส่งก็สามารถแก้ไขได้”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีข่าวที่ออกมาที่ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้ และผลักดันโครงการ “คนละครึ่งเฟส 5” นั้น อาจเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะจากที่มีการหารือกัน คือ ให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณาแหล่งเงิน เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่มีความจำเป็น
พร้อมกล่าวย้ำว่า ไม่ได้พุ่งเป้าที่การกู้เงิน และได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงการประเมินภาวะเศรษฐกิจ และความจำเป็นในการเข้าไปดูแล หรือออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนเพิ่มเติม ล่าสุดรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มไปแล้ว และส่วนใหญ่ใช้งบกลาง เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็จะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป
“เรากู้เงินเยอะแล้ว เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ บางประเทศก็มีการกู้เงินจำนวนมากกว่าเรา และขณะนี้หลายประเทศก็เริ่มเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบปกติ ก็คือ เน้นไปที่การลงทุน ในส่วนของไทยก็คือการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน และเราต้องดูเรื่องของวินัยการเงินการคลังด้วย แม้ขณะนี้รายได้ของรัฐจะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณ 64 ก็ตาม” นายอาคม กล่าว
ส่วนโครงการ “คนละครึ่งเฟส 5” นั้น นายอาคม กล่าวว่า ยังต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ เพราะเนื่องจากเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณสูง และกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รายรับของประชนชนเริ่มกลับมา ควรจะลดมาตรการดังกล่าวลง และเข้าไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อทำให้ประชาชนกลับมามีรายได้เพิ่ม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ผลักดันมาตรการดังกล่าวผ่านธนาคารของรัฐแล้ว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3777 วันที่ 24 -27 เมษายน 2565