เปิดข้อเสนอ "กกร." ลดจัดเก็บภาษีน้ำมันต่อ 3 เดือน - คนละครึ่งเฟส 5 ประครอง ศก.

11 พ.ค. 2565 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 14:42 น.

เปิดข้อเสนอ "กกร." ลดจัดเก็บภาษีน้ำมันต่อ 3 เดือน คนละครึ่งเฟส 5 ประครองเศรษฐกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ

 

และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน 

 

โดยเฉพาะ SMEs และประชาชน ในช่วงไตรมาส 2 -3 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วนดังนี้ 

1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง 
     

 

  • ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน 
  • ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน 
  • ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ,เพิ่มโควต้านำเข้า 
  • เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้  ดอกเบี้ยต่ำ

 

2.  การกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

เปิดข้อเสนอ "กกร." ลดจัดเก็บภาษีน้ำมันต่อ 3 เดือน คนละครึ่งเฟส 5
     

2.1 กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น 
         

           2.1.1  โครงการคนละครึ่งเฟส 5 
           2.1.2  ขยายจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 
           2.1.3  ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง  
           2.1.4  การลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ย ปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า 
   

2.2 การเปิดประเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม

อย่างไรก็ดี การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงาน ในแต่ละจังหวัดนั้นๆ ซึ่งประเทศไทย

 

อยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด โดยการปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้

 

กกร.จึงขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด

 

รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน