หลังจากฝ่ายบริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนล่าสุดว่า เตรียมเดินหน้าจัดประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้านในเดือนนี้ โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างประกาศเชิญชวน (RFP)ฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะประกาศได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดประมูลได้ตัวผู้รับเหมาและรับสัมปทานโครงการได้ภายในเดือน ส.ค.65 นั้น
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เส้นทางการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจ่อจะยุ่งขิงตั้งแต่ยังไม่ทันออกประกาศร่างเงื่อนไขการประมูลแล้ว หลังจากรฟม.ได้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการคัดเลือกฯ (คณะกรรมการตามมาตรา36 พรบ.การร่วมลงทุนฯ) ชุดใหม่ โดยมี นายกิตติกร ตัณเปาว์ รองผู้ว่าการ รฟม.เป็นประธานกรรมการ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกรรมการคัดเลือกยกชุด หลังจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือกได้ตบเท้าลาออกกันไปก่อนหน้า เพราะไม่ต้องการถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บมจ.บีทีเอส หนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลโครงการ ได้ทำหนังสือทักท้วงไปยัง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อขอให้ปรับเปลี่ยนตัวประธานกรรมการคัดเลือก เนื่องจากนายกิตติกร ยังมีคดีความฟ้องร้องอยู่กับบริษัท กรณีกลุ่มบีทีเอสได้ฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯชุดก่อนต่อศาลปกครองกรณีเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ประมูลคัดเลือก และยังฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยความคืบหน้าของคดีอาญานั้น ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล จึงเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทาง รฟม.ยังคงยืนกรานไม่ปรับเปลี่ยนตัวประธานกรรมการคัดเลือก โดยอ้างว่ามีการดำเนินการมาอย่างถูกต้อง และกระบวนการพิจารณาคัดเลือกครั้งใหม่ยังมีการเชิญคณะผู้สังเกตุการณ์หลายคนเข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วยตามข้อตกลงคุณธรรมด้วย จึงไม่หวั่นว่าจะถูกครหาว่าไม่เป็นกลาง
ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกครั้งใหม่นั้น แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รฟม.ยังคงรวมเอางานประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า ส่วนตะวันตก และงานจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและสัมปทานเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าทั้งโครงการ (O&M) เข้าด้วยกัน โดยเอกชนที่ได้งานรับเหมาก่อสร้างงานรถไฟฟ้าส่วนตะวันตกไปจะได้งาน O&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งระบบไปด้วย ระยะเวลา 30 ปี
พิรุธ!ล็อคสเปคตั้งแต่ในมุ้ง
ส่วนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนั้น มีรายงานล่าสุดว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกจะกลับไปดำเนินการประมูลแบบปกติตามที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง โดยจะพิจารณาซองข้อเสนอทางการเงินจากกลุ่มผู้เสนอราคาที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคแล้วเท่านั้น (Price Only) โดยมีการปรับปรุงเงื่อนไขด้านเทคนิคที่เข้มข้นขึ้นโดยเอกชนที่จะผ่านการพิจารณาจะต้องได้คะแนนรวมด้านเทคนิคเกิน 85% ทั้งยังกำหนดคุณสมบัติเอกชนที่จะเข้าประมูล ต้องมีผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า (Operator) ที่มีประสบการณ์เดินรถเกิน 10 ปีเข้าร่วม ขณะตัวผู้รับเหมาหลักยังต้องมีผลงานการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน (Local content)มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านกับรัฐบาลไทย
การกำหนดคุณสมบัติผู้รับเหมาที่ต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินกับรัฐบาลไทย ที่เป็น Local Content และกำหนดเงื่อนไขที่ต้องมีผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเข้าร่วมด้วยนั้นทำให้ในเมืองไทย มีกลุ่มรับเหมายักษ์ที่เข้าเกณฑ์มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลได้เพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือกลุ่ม ช.การช่าง(CK) และอิตาเลียนไทยฯ (ITD) ขณะที่ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าหรือโอปอเรเตอร์ที่สามารถเข้ายื่นข้อเสนอจะเพียง 3 รายเท่านั้น คือ BEM ,BTS และ บริษัทรถไฟฟ้าร.ฟ.ท.จำกัด หรือ แอร์พอร์ตลิงค์ จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่า เงื่อนไขการประมูลครั้งใหม่ยังคงหมกเม็ดล็อคสเปคหวังเขี่ยกลุ่มผู้รับเหมาบางกลุ่มออกไป และตีกันไม่ให้ดึงผู้รับเหมาต่างชาติเข้ามาร่วมประมูลได้
“มีกระแสข่าวสะพัดตั้งแต่ยังไม่ทันขายซอง TOR ว่า มีการเดินเกมเจรจาให้บริษัทแอร์พอร์ตลิงค์จับมือกับกลุ่ม ITD เข้าร่วมประมูลด้วย ขณะที่กลุ่ม ช.การช่างหรือ CK จะจับมือกับ BEM บริษัทลูกเข้าประมูลอยู่แล้ว ส่วนกลุ่ม BSR ที่มี BTS ร่วมกับกลุ่มซิโน-ไทเอ็นจิเนียริ่ง ฯ (ST) แม้จะหันไปดึงพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาร่วม ก็มีปัญหาในเรื่องผลงานกับรัฐบาลไทยอยู่ดี จึงทำให้ยากที่จะผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคไปได้ ซึ่งหากพิจารณาเนื้องานโครงการนี้ที่ตั้งเป้าไว้แต่แรก จึงทำให้โครงการนี้มีการล็อคสเปคหวังจะประเคนสัมปทานไปให้กลุ่มทุน CK-BEM มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว โดยอ้างประมูลนานาชาติ แต่ตีกันต่างชาติเข้าร่วม
ด้านแหล่งข่าวจากผู้บริหารบมจ.บีทีเอส เปิดเผยว่า ยังไม่เห็นเงื่อนไขการประมูลโครงการสายสีส้มแต่อย่างใด แต่บริษัทก็พร้อมจะเข้าร่วมประมูลตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่หากรฟม.และคณะกรรมการจะมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนก็คงต้องมีคำอธิบายแก่สังคม หรือหากจะพิจารณาว่าข้อเสนอของบริษัทไม่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิค รฟม.และคณะกรรมการก็ต้องมีคำอธิบายต่อสังคมเช่นกันเพราะบริษัทได้เข้าร่วมประมูลมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หากจู่ ๆ กลับจะมาถูกปรับตกลดสเปค คงไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ
“หากพิจารณาหลักเกณฑ์ประกวดราคาครั้งใหม่ที่เป็นข่าวออกมาก่อนหน้า ก็คงทำให้เส้นทางการประมูลโครงการนี้ สะดุดลงอีกครั้ง การไปกำหนดเงื่อนไข Local Content อาจขัดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประกวดราคานานาชาติได้ ต่อให้เอาบริษัทรับเหมาจากจีน อย่างบริษัท ไชน่าเรีลเวย์ที่มีประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เข้ามาร่วมก็ไม่ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคอยู่ดี จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีการล็อคสเปกเพื่อประเคนโครงการไปให้กลุ่มทุนทางการนเมืองที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คงฝากความหวังไว้ที่นายกฯและตัวแทนเครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ข้าร่วมสังเกตุการณ์ประมูลโครงการนี้จะได้จับตาความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เหตุใด รฟม.ถึงต้องดิ้นรนในทุกวิถีทางเพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทั้งที่หากประมูลปกติโครงการน่าจะได้ผู้ชนะประมูลโครงการนี้ไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว”