วัดใจแผนฟื้นฟู ขสมก. จ้างเหมาเอกชนวิ่งรถโดยสาร EV เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย

28 เม.ย. 2565 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 15:24 น.

เปิดแผนฟื้นฟู ขสมก. จับตาแผนการจัดหารถโดยสารใหม่ วัดใจขสมก.จ้างเหมาเอกชนบริการเดินโดยสาร EV จ่ายค่าจ้าง 6,000 บาทต่อวันต่อคัน วงในติงราคาสูง ไม่สมเหตุสมผล เสี่ยงได้ไม่คุ้มเสีย หลังกางรายได้พบต่อวันมีรายได้เดินรถน้อยมาก

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ผู้ให้บริการรถเมล์ขนส่งผู้โดยสารมายาวนาน 43 ปี นับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา แต่แทบจะไม่เคยปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางเดินรถอย่างจริงจัง และไม่มีการจัดหารถโดยสารใหม่มานานกว่า 18 ปี รวมทั้งไม่ได้รับการปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2554 นั่นจึงเป็นเหตุให้ประสบปัญหาขาดทุน จนนำมาสู่การทำแผนฟื้นฟูองค์กร

 

ตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ซึ่งผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 และมีการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ (ฉบับปรับปรุงใหม่) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ไปดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนนำมาเสนอครม. พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ ขสมก. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเสนอ

 

ตามแผนมีความน่าสนใจว่าจะสามารถฟื้นฟูกิจการ ขสมก. กลับมายืนได้ด้วยตัวเองอีกหรือไม่ หลังจากสถานะทางการเงินล่าสุด ขสมก. ซึ่งได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 พบว่า มีภาระหนี้สะสมมากถึง 1.2 แสนล้านบาท

 

หนึ่งในแนวทางการฟื้นฟู ขสมก. กำหนดแผนการจัดหารถโดยสารใหม่ ในลักษณะของการ เช่า/จ้าง ภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (รถโดยสาร EV) จำนวน 2,511 คัน แบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1-6 จำนวน 400 คัน และงวดสุดท้ายในส่วนที่เหลืออีก 111 คัน

โดยในงวดแรกจะเร่งจัดหาให้ได้ในระยะแรกก่อน 224 คัน ผ่านการประกวดราคา ซึ่งขณะนี้ ขสมก.กำลังอยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารขอบเขตของงาน (TOR) เพื่อจัดหาผู้ดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ระบุว่า จะสามารถประกาศทีโออาร์ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และสามารถจัดหารถได้ในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2565

 

ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะการจ้างเหมาเอกชนวิ่งให้บริการรถโดยสาร EV ในล็อตแรก โดย ขสมก. จะจ้างเหมาในอัตรา 6,000 บาทต่อวันต่อคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง แม้ว่า ผอ.ขสมก. จะออกมาชี้แจงโดยหยิบเอาตัวอย่างต้นทุนของรถ ขสมก.ครีม-แดง ที่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนต่อคันต่อวัน เกิน 6,000 บาท 

 

โดยอธิบายเปรียบเทียบว่า ขสมก.ครีม-แดง จะมีค่าเหมาซ่อม 1,400 บาทต่อคัน ค่าเชื้อเพลิง ประมาณ 2,600 บาทต่อเที่ยว (คิดฐานราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 28-30 บาท) และค่าจ้างคนขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร 3,000 บาทต่อคันต่อวัน ซึ่งจะสูงกว่า 6,000 บาทต่อวันต่อคันแน่ ๆ

 

พร้อมทั้งบอกทางแก้ปัญหาด้วยการจัดหารถใหม่ผ่านรูปแบบการเหมาจ้างเอกชน โดยระบุว่า จะมีต้นทุนดำเนินการใกล้เคียงกับการขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) ซึ่งในการบริหารจัดการ จะมีมีต้นทุนถูกกว่า เนื่องจากเป็นรถโดยสาร EV มีค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 3.50 บาทต่อ KWh เท่านั้น

 

แถลงการณ์ของสหภาพฯ ขสมก.

แถลงการณ์ของสหภาพฯ ขสมก.


แหล่งข่าวจาก ขสมก. ยอมรับว่า แท้จริงแล้ว การคิดต้นทุนจ้างเหมาในอัตรา 6,000 บาทต่อวันต่อคัน ยังไม่มีตัวเลขอะไรมารองรับที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะการนำตัวเลขค่าใช้จ่ายเทียบกับรถเมล์ครีม-แดง ซึ่งใช้น้ำมันดีเซล แต่ไม่ยอมเอาตัวเลขของรถเมล์ที่ใช้ NGV มาเทียบ ซึ่งจะมีราคาที่ต่ำกว่า 6,000 บาทต่อวันต่อคัน อย่างมาก

 

อีกทั้งรถเมล์ที่ใช้ NGV ยังมีการปล่อยมลพิษน้อยเกือบเทียบเท่ารถโดยสาร EV แต่มีต้นทุนที่ถูกกว่า แถมยังมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ โดยเฉพาะปั๊มที่ให้บริการ NGV ไม่ต้องลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า เฉพาะรถโดยสารขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นหลักร้อยล้านบาทด้วย

 

โดยปัจจุบัน ขสมก. มีจำนวนรถประจำการ จำนวน 3,005 คัน แบ่งเป็น 

  • รถธรรมดา (ครีม-แดง) จำนวน 1,520 คัน
  • รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน) จำนวน 179 คัน
  • รถปรับอากาศ ยูโรทู ทุกรุ่น จำนวน 376 คัน 
  • รถปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน
  • รถปรับปรุงสภาพ จำนวน 323 คัน
  • รถไฮบริด (ฮีโน่) จำนวน 1 คัน
  • รถเช่าปรับอากาศ PBC จำนวน 117 คัน

 

จำนวนรถโดยสารของ ขสมก. ในปัจจุบัน

 

ขณะที่ต้นทุนรายได้ต่อวัน หากดำเนินการจ้างเหมาเอกชนวิ่ง โดยขสมก. ต้องควักเงินจ่ายถึง 6,000 บาทต่อวันต่อคัน อาจทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการน้อยลง ทั้งจากการมีระบบสาธารณะอื่น ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้า รวมทั้งเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 

 

ทั้งนี้หากนำรายได้ต่อวันของการเดินรถ ขสมก. มาเปรียบเทียบจะเห็นข้อมูลที่ชัดเจน โดยจากข้อมูลยอดรายได้ของ ขสมก. ณ วันที่ 27 เมษายน 2565 พบว่า รถโดยสาร ขสมก. ทุกประเภทมีรายได้รวมเฉลี่ยต่อคันอยู่ที่ 2,489 บาท แยกเป็นเขตเดินรถต่าง ๆ ดังนี้

  • เขตเดินรถที่ 1 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  2,049 บาท
  • เขตเดินรถที่ 2 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  2,291 บาท 
  • เขตเดินรถที่ 3 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  2,731 บาท
  • เขตเดินรถที่ 4 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  2,131 บาท
  • เขตเดินรถที่ 5 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  3,348 บาท
  • เขตเดินรถที่ 6 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  2,674 บาท
  • เขตเดินรถที่ 7 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  2,740 บาท
  • เขตเดินรถที่ 8 รายได้เฉลี่ยต่อคัน  1,910 บาท

 

อย่างไรก็ดีเมื่อเห็นตัวเลขข้างต้นเสร็จก็อดไม่ได้ที่จะกลับไปอ่านแถลงการณ์ของสหภาพฯ ขสมก. อีกรอบ ที่บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องจ้างเหมาว่า จะเอาเงินจากไหน ทำไมไม่จัดหารถใหม่ 400 คัน ให้ ขสมก.โดยตรง พร้อมระบุ เห็นว่ามีวาระซ่อนเร้น หรือเป็นการแปรรูป ขสมก.อย่างชัดเจน ทำให้พนักงานสับสน ขาดขวัญและกำลังใจอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

 

ขยี้ตาดูอีกครั้ง เอ๊ะ!! มันยังไง ๆ อยู่นะ