นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึง สถานการณ์ค่าระวางเรือ (Ocean freight charge)หรือ "ค่าเฟรท" ว่า ยังคงมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง แม้ในช่วงไตรมาส1ของปีนี้ ค่าระวางเรือจะปรับลดลงมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง จากช่วง 1-2 เดือนที่ผ่าน ค่าระวางเรือลดลงจากจีนมีการปิดประเทศจากสถานการณ์โควิดทำให้การตู้คอนเทนเนอร์มีเพียงพอ
แต่หลังจากนี้หากสถานการณ์โควิดในจีนทุเลาลง และกลับมาเปิดประเทศ มีการขยายตัวของภาคการขนส่ง จะทำให้ความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าค่าระวางเรือย่อมกลับมาสูงอีก เพราะความต้องการที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงต่อเนื่อง และน่าจะสูงถึง 5-7 เท่าของค่าระวางเรือก่อนโควิดในปี 2019 และน่าจะสูงไปจนถึงปลายปีนี้
“ยกตัวอย่างเช่น ค่าระวางเรือก่อนโควิดอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต แต่ปัจจุบันค่าระวางเรืออยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ 40 ฟุต ซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในช่วงนี้คือผู้ประกอบการต้องเร่งวางแผนส่งมอบสินค้าล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
ทั้งนี้เพื่อจองตู้คอนเทนเนอร์ และการทำสัญญาล่วงหน้ากับสายเดินเรือ ส่วนภาครัฐเองสิ่งที่เอกชนต้องการให้ดำเนินการคือการตรึงราคาน้ำมัน ถ้าไม่อยากให้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ รัฐต้องเร่งหาทางแก้ไขในเรื่องนี้”
สอดคล้องกับ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า ที่ผ่านมาค่าระวางเรือขึ้นมาสูงมากและเริ่มเบาลงในช่วง1-2เดือน แต่ก็ลงมาอยู่ในระดับที่ยังสูงอยู่ แม้ว่าจีนจะล็อกดาวน์ประเทศแต่ก็ยังส่งออกได้แม้ว่าจะลดลง แต่หลังจากนี้คาดว่าจีนจะเปิดประเทศเร็ว ๆ นี้ดังนั้นโอกาสที่ค่าระวางเรือจะปรับตัวลงมาคงยาก
ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอีกยิ่งส่งผลให้ต้นของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ดังนั้นตราบใดที่ราคาน้ำมันยังไม่ลดลงมาและยังไม่มีประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อทดแทนน้ำมันจากรัสเซีย น่าจะทำให้ราคาน้ำมันยังสูงขึ้น และถ้าสงครามยังยืดเยื้อไม่มีประเทศไหนยอมถอย ผลกระทบที่เกิดคือวิกฤติทางเศรษฐกิจ ความจริงสินค้ายังมีอยู่ในตลาด 2 ประเทศเพียงแต่นำออกมาไม่ได้เท่านั้นเอง จากถูกคว่ำบาตรของนานาประเทศ