นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามนโยบายนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้พลิกโฉมบทบาทการทำหน้าที่ของสารวัตรเกษตรให้เป็นเพื่อนคู่คิดและสร้างอาสาสมัครสารวัตรเกษตรเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องของการตรวจสอบสารเคมีเกษตรว่ามีการนำเข้าและผลิตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ซึ่งกรมได้มีการขับเคลื่อนต่อเนื่องและล่าสุดเมื่อวันที่ 30-31 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา กรมได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
เข้าตรวจยึดอายัดสารพาราควอต ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เป็นความผิดตามพรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2553 ที่ห้ามผลิตและจำหน่ายในประเทศ และตรวจยึดอายัดวัตถุอันตรายชนิดที่ 3(ไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต-แอมโมเนีย)ปลอม และวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และปุ๋ยเคมี ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ตามการแจ้งเบาะแสของผู้หวังดีผ่านทางตำรวจ
โดยผลการจับกุมครั้งนี้มี มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปีปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ได้กำชับให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและให้มีการขยายผลด้วยว่าพัวพันกับเอกชนตามที่ติดฉลากสินค้าหรือไม่ หรือเป็นการแอบอ้างฉลากทำให้ประชาชนเข้าใจผิดฝากเตือนประชาชนหากพบสารว่ามีสารพาราควอตวางจำหน่าย ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายสามารถแจ้งเบาะแสมาที่กรมวิชาการได้ตลอดเวลา
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการ เปิดเผยว่า สารวัตรเกษตรศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา กรมวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมการจับกุมพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบโกดังเลขที่ 79 หมู่ 10 ถ.เลียบคลอง ต.กระชอน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 จากการตรวจสอบพบว่า โกดังโรงสีเก่า มีนายไพรัตน์ ไม่ทราบนามสกุล และนายไพโรจน์ ไม่ทราบนามสกุล เป็นเจ้าของและโกดังเป็นสถานที่ที่ไม่มีใบอนุญาตในการผลิตวัตถุอันตราย
ไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย และใบอนุญาตผลิต ขาย ปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าแต่อย่างใด และต่อมาเข้าตรวจจับกุมนายณัฐวุฒิ บุญสมภพ ซึ่งขับขี่รถยนต์บรรทุกสินค้าออกมาจากโกดังดังกล่าว จึงได้มีการยึดอายัดไว้ทั้งหมด ตามพรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ พรบ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไข ฉบับที่ 2 พ.ศ.2550
ทั้งนี้ผลตรวจสอบของกลางพบว่าเป็น พาราควอต ไดคลอไรด์ ซึ่งห้ามผลิต จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง สารไกลโฟเซตที่ต้องแจ้งขออนุญาต ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรปลอมหลายรายการ โดยทั้งหมดจะมีการติดฉลากยี่ห้อสินค้าของเอกชนผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นที่นิยมของเกษตรกรหลายบริษัท ทั้งนี้ยังมีสารเคมีที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหลายรายการ
“ สำหรับสารพาราควอต น่าจะเป็นสารที่มีการซุกซ่อนไว้ไม่นำมาแจ้งหรือส่งคืนให้กรมวิชาการเกษตรนำไปทำลายตามกฎหมาย เพราะกรมได้ห้ามนำเข้าและไม่มีการอนุญาตมา 2 ปีแล้ว รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลากที่ผลิตภัณฑ์ว่าจะหมดอายุในปี 2566 น่าจะเข้าข่ายหลอกลวงเพราะกรมไม่มีการออกใบอนุญาตมา 2 ปีแล้วเช่นกัน “ นายภัสชญภณกล่าว
สำหรับการลักลอบผลิตวัตถุอันตราย ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร มีบทกำหนดโทษ ดังนี้
1.ผู้ใดผลิต หรือมีไว้ในความครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 43,74 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
2.ผู้ใดผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกิน 700,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 45(1),75 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
3.ผู้ใดผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23,73 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
4.ผู้ใดผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 45(4),78 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
สำหรับพ.ร.บ. ปุ๋ย พ.ศ.2518 และฉบับแก้ไข ฉบับที่ 2 พ.ศ.2550
1.ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม มาตรา 12 วรรคหนึ่ง มาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ผลิตเพื่อการค้า ปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้
ตาม 30 (5) มาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท