นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า รัฐบาลได้ประมาณการจัดเก็บรายได้ในงบประมาณปี 2566 ไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มเติมจากปีงบประมาณ 2565 ซึ่งประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท
“การจัดเก็บรายได้ในปีก่อน ๆ มีทั้งที่เก็บได้สูงกว่าประมาณการ และต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งในปี 2565 เชื่อว่า น่าจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายเล็กน้อย เพราะล่าสุดยอด 7 เดือน คือตุลาคม 2564 – เมษายน 2565 จัดเก็บรายได้สุทธิ 1.27 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3.7% เดือนที่เหลือน่าจะจัดเก็บได้ตามเป้า แต่ไม่สูงไม่มากนัก เพราะส่วนหนึ่งได้มีการจปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3-5 บาทต่อลิตร”
ส่วนในปีงบประมาณ 2566 การจัดเก็บรายได้น่าจะจัดเก็บได้ตามประมาณการ เพราะประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นรายได้อีกทาง รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าเข้ามาเพื่อใช้ในการลงทุน ก็ทำให้จัดเก็บรายได้ส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย 2.49 ล้านล้านบาท
นายอาคม กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันมีช่วงปีที่จัดเก็บรายได้ลดลงคือ ในปี 2557 จัดเก็บรายได้ลงลงจากปีงบประมาณก่อน 4% เป็นผลมาจากการปรับลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 20% ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณนี้ลดลง
ส่วนในปี 2560 มีการจัดเก็บรายได้ลดลงจากประมาณการ เนื่องจากในปี 2559 มีรายได้พิเศษจากผลประโยชน์ในการประมูลเทคโนโลยี 4G ทำให้มีรายได้เข้ามามากในปีก่อน ส่งผลให้ปีต่อมารายได้ลดลง ส่วนในปี 2556-2564 ก็เป็นอีกปีที่รายได้ปรับลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19
“ประเด็นการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องเป็นเวลานาน จริง ๆ ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นด้านการดำเนินนโยบายการคลัง ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็ดูว่าสถานการณ์หลังโควิด หน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจหลายแห่งก็มองว่า หลังจากผ่านโควิดคลี่คลายการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ต้องเข้าสู่หมวดปกติ และรักษาวินัยการเงินการคลังให้ได้ ซึ่งไทยก็ต้องเดินตามนั้น”