กทพ.ลุย 21 โปรเจ็กต์ สางปัญหาจราจรบนทางด่วน

16 มิ.ย. 2565 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 16:32 น.

กทพ.รายงาน “คมนาคม” เผยคืบหน้า 21 โปรเจ็กต์ กางแผนออกแบบ แก้ปัญหาจราจรบนทางด่วน เฟสแรก หลังคจร.ไฟเขียวรายงานผลการศึกษาโครงการฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รายงานความก้าวหน้าการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานผลการศึกษาการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบไว้แล้ว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการศึกษาของ กทพ. แล้ว เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 

 

 

ขณะเดียวกัน กทพ. ได้มีการวิเคราะห์ความเหมาะสมและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวมทั้งระบบ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในปัจจุบัน จำนวน 21 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - 2569) จำนวน 16 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) จำนวน 5 โครงการ และ 2. โครงการทางพิเศษเพิ่มเติมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง จำนวน 11 โครงการ แบ่งเป็น แผนระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - 2569) จำนวน 5 โครงการ และแผนระยะที่ 2 (พ.ศ. 2570 เป็นต้นไป) จำนวน 6 โครงการ  
 

กทพ.ลุย 21 โปรเจ็กต์ สางปัญหาจราจรบนทางด่วน

ทั้งนี้ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม ของโครงการการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษระยะที่ 1 จำนวน 16 โครงการ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจร จำนวน 8 โครงการ (รวม 9 โครงการ) มีแผนระยะเวลาศึกษา 15 เดือน 

กทพ.ลุย 21 โปรเจ็กต์ สางปัญหาจราจรบนทางด่วน

2.งานศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โครงการทางขึ้น-ลง บริเวณสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 4 โครงการ มีแผนระยะเวลาศึกษา 6 เดือน 3.งานศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการแก้ไขปัญหาการจราจร จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงถนนเกษตร-นวมินทร์ และโครงการทางเชื่อมด่านจตุโชติกับทางคู่ขนานถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก มีแผนระยะเวลาศึกษา 10 เดือน 4.งานสำรวจและออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) โครงการเปิดใช้ช่องจราจรสวนกระแสช่วงถนนพระราม 9-ถนนเกษตร-นวมินทร์ จำนวน 1 โครงการ มีแผนระยะเวลาศึกษา 6 เดือน 

 

 

“ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมโดยมอบหมายให้ กทพ. จัดทำ Presentation สรุปข้อมูลในรูปแบบ Clip Video เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าการดำเนินงานให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ ต่อไป”