นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ได้นำคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง รวมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานบทสรุปนโยบายของมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ที่ได้เสนอต่อรัฐบาล
.
โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงมีความก้าวหน้าโดยลำดับ รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อมูลและข้อเสนอต่าง ๆ โดยจะมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่ออย่างเหมาะสม พิจารณาตามความความจำเป็นเร่งด่วน ด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
.
ส่วนการดูแลเรื่องราคาพลังงานและน้ำมันนั้น รัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ
นายมงคล กล่าวว่า ขอแจ้งพี่น้องชาวประมง 22 จังหวัด วันนี้นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมพิจารณาเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง โดยเร็ว และในวันเดียวกันได้เดินทางไปเข้าพบ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ เลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (เลขาธิการ ศรชล.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย มีการสรุป ประเด็นความคืบหน้าเชิงบวกในการปฏิรูปการประมง จำนวน 4 ประเด็น และที่ประชุมได้พิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติงานได้ดังนี้
1. ประเด็นการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง ซึ่งประสานงานโดยทั้งกรมประมงและ ศรชล.ที่สามารถกำกับดูแลการดำเนินการตามนโยบายการประมงและแรงงานอย่างต่อเนื่องในการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุมได้มีแนวทางการปฏิบัติงานโดยจะยังไม่พิจารณาจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเติม เนื่องจากกลไกที่ใช้ในการบริหารจัดการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังครอบคลุมและครบถ้วน
ทั้งนี้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง โดยเฉพาะศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port In Port Out Controlling Center: PIPO) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจะได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ พิจารณาใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย 1) เพิ่มอัตรากำลังพลในศูนย์ PIPO โดยเพิ่มเติมกำลังพลจาก ศรชล. และกองบังคับการตำรวจน้ำ 2) เพิ่มชุดตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานศูนย์ PIPO (ชุด FIT)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO
2. ประเด็นการประเมินผลกระทบความเสียหายโดยเรืออวนลากที่มีประสิทธิภาพสูง โดยขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอนด้วยความระมัดระวังเพื่อลดกองเรือดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่เรือลากคู่เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ที่ประชุมขอให้การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการประมงของประเทศไทย พ.ศ. 2563 - 2565 (Fisheries Management Plan 2020 – 2022)
3. ประเด็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียม (Automatic Identification System: AIS) สำหรับเรือประมงพาณิชย์ของไทย ซึ่งความตั้งใจของ EJF คือ การติดตั้งให้กับเรือประมงพาณิชย์ที่มีขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอสส์ อย่างไรก็ตามกรมสรรพสามิตในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องเรือให้บริการตามโครงการน้ำมันเขียว ได้กำหนดมาตรการให้เรือบริการน้ำมันเขียวติดตั้งระบบ AIS
ซึ่งขณะนี้ กรมสรรพสามิตยังมิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาดเรือแต่อย่างใด สำหรับประเด็นนี้ ที่ประชุมจึงให้ กรมประมง กรมเจ้าท่ากรมสรรพสามิต สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ร่วมกับ EJF ร่วมกันหารือให้มีความชัดเจนในการปฏิบัติต่อไป
4. ประเด็นการเร่งพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานมาตรฐาน (Standard Operating Procedure: SOP) สาหรับชาวประมงที่สูญหายกลางทะเล สำหรับในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหลายหน่วยงาน และเกี่ยวข้องกับสิทธิการชดเชยต่าง ๆ ให้กับผู้ประสบเหตุหรือทายาทในกรณีที่ผู้ประสบเหตุเสียชีวิต ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ ศรชล. เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการหารือร่วมกับกรมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางปฏิบัติชาวประมงที่สูญหายกลางทะเลต่อไป
“ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”
อย่างไรก็ดี นายมงคล กล่าวตอนท้ายว่า สมาชิกสมาคมประมงถ่ายคลิปส่งมาให้ดูว่าปีนี้ปลาทูเยอะมากอวนติดตา(อวนลอย) ประมง พื้นบ้าน จริงๆ
อวนติดตา(อวนลอย)จะจับได้ปลาทูที่วางไข่แล้วในท้องจะไม่มีไข่ แต่ถ้าเป็นอวนติดตา (อวนจม)จะได้ปลาทูพ่อแม่พันธุ์ ที่มีไข่เต็มท้อง