หนุน “กรมการข้าว” ใช้เงินช่วยเหลือชาวนา ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน

28 มิ.ย. 2565 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2565 | 19:03 น.

“สานิตย์” ยกมือสนับสนุน “กรมการข้าว” ใช้เงินช่วยเหลือชาวนา 1.5 หมื่นล้าน ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน สร้างความเข้มแข็ง ด้าน “สุเทพ” ออกโรงชี้แจงยิบ หลังรถทัวร์ชาวนาคว่ำถล่มกรมยับ ยันไม่เกี่ยวกับงบจ่ายไร่ละ 1,000 บาท โครงการรัฐบาล คนละส่วน

สุเทพ คงมาก

 

นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ขอชี้แจง แผนงานของกรมการข้าว ปี 2566  เป็นงบประมาณอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กว่า 1. 2 แสนล้าน ก็เป็นการขอใช้งบประมาณภายใต้กระทรวง ไม่ได้ไปขอใช้งบประมาณส่วนอื่นเลย นี่เป็นหนึ่งในแผนงานของกระทรวง ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลภายใต้แผนงานของกระทรวง

 

“อธิบดีกรมการข้าว หรือ กรมต่างๆ ที่เสนอของบประมาณ ต้องภายใต้ในกระทรวง และได้รับงบประมาณเพิ่มเติม จากปีที่แล้ว 2,000 ล้าน เพิ่มเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท และในส่วน 1.5 หมื่นล้านบาทมาสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชาวนา และชาวนา ผ่านศูนย์ข้าวชุมชุม และกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เข้าใจว่าชี้แจงไม่หมด เพราะใน 5,000 ศูนย์ หรือ 5,000 กลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะศูนย์ข้าวชุมชน เพราะในแผนงานจริงๆ มากกว่าที่อธิบดีชี้แจง”

 

นายสุเทพ กล่าวว่า ผมในฐานะที่ปรึกษาอธิบดี ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าวันนี้ไม่ใช่กรมการข้าว ไปเอาเงินจากงบประมาณกลาง 5.4 หมื่นล้าน เป็นงบประมาณที่รัฐบาลได้สนับสนุนค่าต้นทุนการผลิตข้าวและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.60 ล้านครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 62 ล้านไร่

 

 

“ยืนยันว่า เป็นเงินคนละก้อน เพราะจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา” ไม่ใช่งบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ แต่เป็นส่วนในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในการจัดการข้าวแต่ละปี แต่วันนี้กรมการข้าวขอรับงบประมาณภายใต้กรอบงบประมาณกระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้นยืนยัน กรมการข้าว เงินที่งอกออกมาไม่ใช่เป็นการปล้นชาวนา ไม่ใช่นำเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท มาใช้กับโครงการนี้

 

หนุน “กรมการข้าว” ใช้เงินช่วยเหลือชาวนา ผ่านศูนย์ข้าวชุมชน

 

เช่นเดียวกับ นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก แถลงการณ์ เห็นด้วยกับแนวทางของ กรมการข้าว ปัจจุบันการทำนา ไม่ได้มีระบบลงแขกแบบโบราณแล้ว แต่เป็นระบบการผลิต จ้างงานต่อเนื่อง เช่น อาชีพรับจ้าง เพาะกล้า อาชีพรับจ้างหยอดข้าว อาชีพรับจ้างโดรนฉีดพ่น อาชีพรับจ้างเกี่ยวข้าว โดยมีพ่อค้าคนกลาง ประจำท่าข้าว มารับซื้อข้าวเพื่อรวบรวมส่งโรงสี ข้าวเปลือกจากท่าข้าวจึงเป็นข้าวหลายสายพันธุ์ หลายคุณภาพ ได้ราคาเดียวกัน

 

ดังนั้น การที่กรมการข้าวมีแนวทางที่จะใช้ ศูนย์ข้าวชุมชน แก้ไขปัญหาข้างต้น เพื่อเป็นศูนย์บูรณาการการผลิตข้าวคุณภาพดี เป็นศูนย์บ่มเพาะพาณิชย์ข้าว เช่น การรวบรวมข้าวเปลือก ของสมาชิก และส่งมอบ โรงสีคู่ค้า (Win Win Solutions)

 

ศูนย์ข้าวชุมชน แนวทางกรมการข้าว จึงมีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับความต้องการของชุมชนที่ไม่เหมือนกัน เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะของทุกสาขาอาชีพการทำนา สรุปสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก เห็นด้วยกับแนวทางของ กรมการข้าว