หนุนงบ1.5หมื่นล้าน กรมการข้าว ลุยลดต้นทุนการเกษตรฯ

28 มิ.ย. 2565 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2565 | 19:59 น.

ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม หนุนงบ 1.5 หมื่นล้าน  "กรมการข้าว" ลุยโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรฯ ชี้ช่วยสร้างความยั่งยืนให้ชาวนา สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

วันที่ 28 มิ.ย. 65 นายจารึก กมลอินทร์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม ต.บ้านท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา กล่าวถึงโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงิน 15,000 ล้านบาท ของกรมการข้าว เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับศูนย์ข้าวชุมชน 5,000 ศูนย์ ทั่วประเทศว่า เห็นด้วยกับกรมการข้าว ที่จัดโครงการฯ นี้ขึ้นมา 

 

ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาวให้กับเกษตรกรชาวนา เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังไม่มีความยั่งยืน ทั้งนี้ การยึดศูนย์ข้าวชุมชนเป็นโมเดลต้นแบบ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกร และมีการบริหารจัดการกลุ่มด้วยตนเอง และหากภาครัฐเข้ามาสนับสนุเพิ่มเติม จะยิ่งสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวนา ที่สำคัญสามารถพึ่งพาตนเองได้ 

นายจารึก กมลอินทร์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม ต.บ้านท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา

นอกจากนี้ ยังช่วยบริหารจัดการปัญหาข้าวล้นตลาด ข้าวไม่มีคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารายเดี่ยว เพราะมีการวางแผนการผลิต การตลาด โดยการเชื่อมโยงกับโรงสีข้าว เช่น ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าเยี่ยม ที่ตนเป็นประธานอยู่ มีโรงสีเข้ามาติดต่อโดยตรงอยากให้ศูนย์ฯ ผลิตข้าวพันธุ์ที่ต้องการ เพื่อการส่งออกของโรงสี เพราะมองว่าถ้ารับผลผลิตจากเกษตรรายเดี่ยว จะไม่สามารถควบคุมคุณภาพ และแผนการผลิตได้ตามเป้าที่วางไว้ 

หนุนงบ1.5หมื่นล้าน กรมการข้าว ลุยลดต้นทุนการเกษตรฯ

“กรมการข้าว คิดถูกที่จัดโครงการฯ นี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาว และเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวนา ซึ่งจะเป็นทางรอดมากกว่า และสามารถยืนได้ด้วยตัวเขาเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ ศูนย์ข้าวชุมชนก็เปรียบเสมือนผู้ประกอบการรายหนึ่ง ที่มีอำนาจต่อรองเรื่องราคา เพราะโรงสีก็จะเดินเข้ามาหาเราเอง เราไม่ต้องวิ่งไปขายข้าวสดให้กับโรงสี สามารถชะลอการขายข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพราะเรามีตลาดรองรับที่แน่นอน เพราะเราผลิตตามออเดอร์ที่ตลาดต้องการ ทำให้ลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งสอดรับกับนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย หากเราไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ปัญหาเดิมๆ ก็จะวนเวียนกลับมา ภาครัฐก็ต้องหางบมาช่วยพยุงเกษตรกรชาวนา ซึ่งปีหนึ่งต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และไม่เกิดความยั่งยืน”นายจารึก กล่าว