จากผลกระทบสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครประสบปัญหารายได้ลดลงสวนทางครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ขณะค่าใช้จ่ายมารออยู่หน้าประตูบ้าน เป็นเหตุให้รัฐบาลและท้องถิ่นต้องหาทางบรรเทา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 เห็นชอบการขยายเวลาการบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย
ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562 ออกไปก่อน เป็น 1 ตุลาคม 2566 ตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมเสนอให้พิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548
จึงมีการปรับปรุงข้อบัญญัติใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้บริหาร และเชิญทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มาร่วมแสดงความคิดเป็นเพื่อให้มีความรอบคอบและสะท้อนปัญหาได้ครบทุกด้าน
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการคำนวณค่าจัดเก็บขยะ คือ ต้องลดค่าใช้จ่ายก่อน การขึ้นค่าธรรมเนียมจะเป็นภาระกับประชาชน และเป็นสิ่งที่รัฐต้องให้บริการพื้นฐานกับประชาชนอยู่แล้ว สำหรับการเก็บอัตราใหม่ จะทำให้ กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท แต่จะพยายามไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายมากขึ้น
ซึ่งภาคประชาชนอาจจะมีข้อจำกัดมากกว่าภาคเอกชน เอกชนสามารถรีไซเคิลและบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยะส่วนใหญ่ทุกวันนี้กว่า 60% มาจากครัวเรือน หลายส่วนเห็นว่าอัตราค่าขยะใหม่ จะทำให้กทม.เก็บค่าขยะจากเอกชนได้มากขึ้น แต่ในมุมกลับกัน
อาจเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากขึ้นด้วย ต้องคิดให้รอบคอบ และอัตราค่าธรรมเนียมขยะปัจจุบันคิดที่น้ำหนักขยะเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงเรื่องแรงจูงใจในการบริหารจัดการหรือการคัดแยกขยะ” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว