ค่าไฟงวดใหม่ 2565 เท่าไหร่ เป็นไปได้ไหม หากเพิ่มสูงสุด 6 บาทต่อหน่วย

18 ก.ค. 2565 | 00:08 น.

ค่าไฟงวดใหม่ งวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 เป็นไปได้ไหม หากเพิ่มสูงสุด 6 บาทต่อหน่วย โดย สำนักงาน กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น โชว์ข้อเสนอของ กฟผ. และกรณีศึกษาการปรับค่า FT ขายปลีก 3 กรณี ค่าไฟฟ้าเพิ่มเท่าไหร่ กระทบภาระต้นทุนยังไง ดูข้อมูลที่นี่ครบ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) สำหรับงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565

 

พร้อมกันนี้ยังมีการคำนวณค่าไฟฟ้ารอบใหม่ ตามสูตรการปรับอัตราค่า FT งวดถัดไป เป็นกรณีศึกษาหลายกรณีด้วยกัน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

 

 

สูตรการปรับอัตราค่า FT สำหรับงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565

แนวโน้มค่าไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปี 2565 เพิ่มขึ้นไหม

 

สำนักงาน กกพ. ระบุว่า แนวโน้มยังอยู่ในขาขึ้น จากความต้องการพลังงานหลังสถานการณ์โควิด-19 และปริมาณก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงต่อเนื่อง 

 

จึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) ซึ่งเป็นสัญญาระยะสั้นที่มีต้นทุนแพงกว่า จากตลาดโลกมาทดแทนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีก๊าซธรรมชาติที่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 และต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี 2565 

 

ขณะที่แนวโน้มสถานการณ์แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังคงลดลง รวมทั้ง ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาได้แจ้งลดการผลิตในช่วงเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป จึงส่งผลให้ต้องมีการจัดหา Spot LNG จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีราคาที่สูงประมาณ 877 - 991 บาทต่อล้านบีทียู 

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติโดยรวมคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 420 – 487 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากประมาณการชุดเดิมในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ที่คาดการณ์ไว้เท่ากับ 377 – 401 บาทต่อล้านีทียู ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

 

สมมุติฐานราคาเชื้อเพลิง ที่ใช้คำนวณอัตราค่า FT

การคำนวณค่า FT งวดใหม่เป็นอย่างไร 

 

การคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า FT ในช่วงเดือน กันยายน - ธันวาคม 2565 พบว่า มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น โดยมีค่าอยู่ที่ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 212.20 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 

  1. ประมาณการต้นทุนการผลิตและซื้อไฟฟ้า ประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 ที่สะท้อนสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง และราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาพลังงานในตลาดโลกปัจจุบัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย
  2. ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง และราคาค่าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าประมาณการล่วงหน้า ส่งผลให้ค่า FT ที่เก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าได้จริงต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ในช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2564 จำนวน 38,943 ล้านบาท และช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2565 จำนวน 44,067 ล้านบาท 

 

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นดังกล่าวไว้รวมจำนวน 83,010 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนที่ กฟผ.แบกรับไว้ประมาณ 143.54 สตางค์ต่อหน่วย

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. ได้นำข้อเสนอของ กฟผ. และกรณีศึกษาการปรับค่า FT ขายปลีก เดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 จำนวน 3 กรณี พร้อมทั้ง ประเมินผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และสถานะทางการเงินของ กฟผ. ในแต่ละกรณี เพื่อนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบการพิจารณา โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ข้อเสนอของ กฟผ. 

 

ค่า FT ขายปลีก เดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 เท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.12 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 53% โดยจะทำให้กฟผ. ได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนทั้งหมดจำนวน 83,010 ล้านบาท คืนภายในเดือนธันวาคม 2565

 

กรณีศึกษาที่ 1 

 

ค่า FT ขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ให้กับ กฟผ. 

 

เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดยมีค่า FT เท่ากับ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.17 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 28% โดย กฟผ. จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชนจำนวน 56,581 ล้านบาท

 

กรณีศึกษาที่ 2 

 

ค่า FT ขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 จำนวน 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงที่ผ่านมาบางส่วนจำนวน 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ให้กับ กฟผ. 

 

เพื่อให้ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดยมีค่า FT เท่ากับ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 23% โดย กฟผ. จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ต้องบริหารจัดการแทนประชาชนจำนวน 69,796 ล้านบาท

 

กรณีศึกษาที่ 3 

 

ค่า FT ขายปลีก ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่แทนประชาชนจำนวน 83,010 ล้านบาท

 

ข้อเสนอของ กฟผ. และกรณีศึกษาการปรับค่า FT ขายปลีก เดือนกันยายน – ธันวาคม 2565

 

ผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า FT สำหรับงวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 มายังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 12 – 25 กรกฎาคม 2565 ผ่านเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. คลิกที่นี่