นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงศรีฯ ดำเนินการด้านความรับผิดชอบเพื่อบรรลุพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาอย่างต่อเนื่อง และได้เร่งการดำเนินงานด้าน ESG เป็นทางรอด ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพขององค์กรสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน
กรุงศรีและบริษัทในเครือ ตอกย้ำความเป็นผู้นำภาคการเงินด้านความยั่งยืนบนวิสัยทัศน์ ‘The most sustainable commercial bank in Thailand’ ต่อยอดโครงการ Krungsri Zero Waste ด้วยแนวคิดและแนวปฏิบัติ Race to Net Zero รณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net Zero Emissions) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์จากบริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593 และภายในสิ้นปี 2565 กรุงศรีจะไม่มีขยะ RDF (Zero RDF) สู่บ่อฝังกลบ
ทั้งนี้ ได้วางแผนในการพุ่งเป้าสู่ NET ZERO ใน 2 ด้าน คือ พยายามลดผลกระทบเชิงลบ รวมถึงไม่สนับสนุนลูกค้าที่ประกอบธุรกิจ ที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสังคมละสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจที่ไม่รับพิจารณาให้สินเชื่อ อาทิ ธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายอาวุธ โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า โดยจะไม่ปล่อยเม็ดเงินกู้ก้อนใหม่ในแคตตากอรี่ต้องห้าม
ขณะเดียวกัน ต้องการช่วยให้ภาคธุรกิจ สังคมไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จากบทบาทของต้นน้ำเรื่องเงินทุนที่จะเข้าไปสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งตามเทรนด์ของโลกการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน หรือตราสารหนี้สีเขียว มีโมเมนตัมที่ดี ภาคเอกชนให้ความสนใจมาออกตราสารประเภทนี้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีมูลค่าราว 5-6 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะขยายไปสู่ 1 แสนล้านบาทได้ไม่ยาก ภายในปี 2573 ดังนั้น กรุงศรีจึงกำหนดเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ประเภทนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2% ให้ขยับเพิ่มสัดส่วนเป็น 10-15% ในอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารในส่วนที่สอง ที่ต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวก
การให้สินเชื่อหรือออกโปรดักส์ตราสารหนี้สีเขียว ถือเป็นการสนับสนุนองค์กรที่มีการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี ที่นอกจากเป็นการลดต้นทุนในระยะยาวแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิาพและสร้างความสามารถในการแข่งขันของตลาดอีกด้วย โดยธุรกิจที่กรุงศรีฯจะให้การสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นกรีน เช่น รถไฟฟ้า หรือภาคการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนการทำงานตลอดกระบวนการของกรุงศรี จะพยายามปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนและลดต้นในในการดำเนินงาน ซึ่งพิจารณาได้จากการคำนวณก๊าซเรือนกระจก ที่แบ่งป็น 3 ส่วน คือ สโคปหนึ่ง คาร์บอนที่ปล่อยตรง ๆ จากกรุงศรี เช่น การขับรถใช้น้ำมันดีเซล ภายในปี ค.ศ. 2030 จะเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในธุรกิจเป็นรถอีวี และสโคปสอง คือ ปล่อยคาร์บอนทางอ้อม ที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า มีการศึกษาการใช้โซลาร์รูฟท็อป และการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อนำมาชดเชยการปล่อยคาร์บอนดังกล่าว โดยในสโคป 1 และ 2 จะต้องเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2030
ส่วนสโคปสาม คือ ซัพพลายเชน ซึ่งไม่อยู่ในการควบคุมขององค์กร ก็ต้องมาดูว่า ตรงนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ลูกค้าเราปล่อยเท่าไร และในปี ค.ศ. 2050 จะเข้าถึงกลุ่มลลูกค้าทั้งซัพพลายเชน รวมทั้งหมดแล้วออกมาจะต้องเป็นศูนย์ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าที่จะมีระบบการบริหารด้าน ESG ที่เป็นเลิศ และบวกด้วยเรื่อง ESG Risk Management ในอนาคตธนาคารพาณิชย์ต้องมีเคพีไอด้าน ESG มากขึ้น ต้องเปิดเผยข้อมูลเรื่องก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของธนาคาร รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูล Finance Emision ในระยะ 3 ปีนี้ กรุงศรีมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับ ESG เพิ่มมากขึ้นด้วย
ที่สำคัญการลดการปล่อยขยะเชื้อเพลิง RDF (Refuse-Derived Fuel) ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2565 นี้ ด้วยปฏิบัติการ Krung-sri’s Race to Net Zero และจะขยายแนวคิดนี้สู่วงกว้างด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรองค์กรต่างๆ ในการรณรงค์ลดขยะ RDF ในปี 2566 โดยจะเริ่มจากองค์กรระดับประเทศที่ตั้งอยู่บนถนนเพลินจิต
ขยะเชื้อเพลิง RDF (Refuse-Derived Fuel) เป็นประเภทขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิล แต่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงและเผาไหม้จนหมด โดยไม่มีการนำไปสู่บ่อฝังกลบ (Zero Waste to Landfills) การสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้ รู้จัก รู้ลด รู้แยก กรุงศรีจะทำงานร่วมกับบริษัทในกลุ่มกรุงศรีฯ คือ ปูนอินทรีย์ ในการนำขยะ RDF ไปผลิตเป็นปูนซีเมนต์ เพื่อนำมาใช้งานต่อได้