นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมา (CBM : Central Bank of Myanmar) มีคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่องว่าที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมามีการประกาศมาตรการต่างๆออกมาเพื่อรักษาสเถียรภาพค่าเงินจ๊าตและป้องกันเงินไหลออกอยู่แล้ว เช่นเมื่อก่อนผู้ที่เข้ามาลงทุนต้องแปลงค่าเงินจากดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินจ๊าตก่อนครึ่งหนึ่งและก็ยังเป็นมาตรการต่อเนื่อง
ส่วนการที่ธนาคารกลางของเมียนมาประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศน่าจะเป็นความพยายามในการดูแลสเถียรภาพของค่าเงินและไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศมากเกินไป
เนื่องจากเมียนมาเองมีปัญหาภายในทั้งการเมือง เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นจากการแพร่ระบาดของโควิดและยังไม่เปิดประเทศ และเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นไปกดให้ค่าเงินของเมียนมา วิธีการที่เมียนมาดำเนินการอาจจะไม่ใช่วิธีที่สากลดำเนินการกันแต่เป็นการรักษาเสถียภาพภายในประเทศของมียนมาเอง
แต่อย่างไรก็ผลกระทบที่ตามมา คือ การลงทุนในเมียนมาซึ่งแน่นอนว่าตกอยู่ในความเสี่ยงและในอนาคตการลงทุนอาจจะมีการปรับย้ายฐานการลงทุน เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา
“ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาได้รับผลกระทบหมด อย่างธุรกิจไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่-กลางก็ได้รับผลกระทบและไม่ใช่แค่ธุรกิจไทยแต่เป็นธุรกิจทั่วโลกที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาและไปขยายสาขาในเมียนมาเพราะเวลาบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะกู้เงินลงทุนก็จะใช้หลักทรัพย์จากบริษัทแม่ในการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่ง70-80%ที่ใช้หลักทรัพย์จากบริษัทแม่ ดังนั้นหากรัฐบาลเมียนมามีคำสั่งแบบนี้ออกมา ทางนักลงทุนก็คงต้องกลับมาปรับแผนการชำระหนี้ใหม่เพื่อไม่ให้เสียเครดิต
แต่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้คงเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมียนมาและไม่มีสาขาหรือเป็นนักลงทุนเมียนมาเองจะไม่ได้รับผลกระทบตรงนี้ เพราะถ้าธนาคารกลางประกาศไม่ต้องชำระหนี้เขาก็ไม่ต้องชำระหนี้ แต่สิ่งที้เกิดขึ้นตอนนี้คือกระทบความเชื่อมั่นเป็นหลักและอาจจะเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากเมียนมาและก็มีอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่โควิด”
แต่สำหรับการค้าขายไทย-เมียนมาก็ยังคงมีการซื้อขายสินค้ากับไทยเป็นปกติแต่การชำระเงินจะเป็นในรูปเงินบาทไม่ใช้เป็นเงินดอลลาร์ สำหรับสินค้าส่งออกหลักของไทยไปตลาดเมียนมา ปี 2564-2565 เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องดื่ม เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากตลาดเมียนมา ปี2564-2565 เช่น ก๊าชธรรมชาติ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช กาแฟ ชา เครื่องเทศ เป็นต้น โดย5เดือน (ม.ค.-พ.ค.)ไทยมีมูลค้าการค้ากับเมียนมารวมที่3,589ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว21.78% แบ่งเป็นการส่งออก 2,078ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว21.14% และการนำเข้า มีมูลค่า1,511ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว22.68%