สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางเมียนมา (CBM : Central Bank of Myanmar) มีคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง
รายงานข่าวซึ่งเผยแพร่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 ก.ค.) ระบุว่า นายวิน ทอ รองผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมา ระบุในจดหมายที่ธนาคารกลางส่งถึงธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยมีคำสั่งให้ผู้กู้ยืมระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะในรูปของเงินสดหรือรูปแบบอื่นใดก็ตาม โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารต้องแจ้งลูกค้าธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศต้องปรับแผนการชำระเงินที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ
รายงานของบลูมเบิร์กระบุ บริษัทในเมียนมามีเงินกู้ยืมในสกุลดอลลาร์อย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ของธุรกิจต่าง ๆ เช่น ออเรดู เมียนมา (Ooredoo Myanmar) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคม, ซิตี้ สแควร์ คอมเมอร์เชียล (City Square Commercial) ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงอพอลโล ทาวเวอร์ส เมียนมา (Apollo Towers Myanmar) และอิราวดี กรีน ทาวเวอร์ส (Irrawaddy Green Towers) ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้ทำกิจการโครงข่ายเสาโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม หลังการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารเมียนมาได้คุมเข้มกฎระเบียบในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินจ๊าตอ่อนค่าลงไปถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปีที่แล้ว (2564) อันเป็นผลจากการที่เงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองของเมียนมาซึ่งเก็บไว้ที่สหรัฐอเมริกาได้ถูกระงับการเบิกถอน นอกจากนี้ ยังถูกระงับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสองแหล่งหลักที่นำเงินตราต่างประเทศให้เมียนมา
อ่านเพิ่มเติม: จากบทเรียน “วิกฤตศรีลังกา” ประเทศไหนเสี่ยงเป็นรายต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังมีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าตที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาล เพื่อป้องกันความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น
รัฐบาลเมียนมายังดำเนินมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งยังจำกัดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปรุงอาหาร เพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ แม้จะยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินบาทเพื่อการค้าชายแดนกับจีนและไทยอยู่ก็ตาม
เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 เงินลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศเมียนมาร์ มียอดคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 4,839.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลอ้างอิง