ความคืบหน้า วิกฤตค่าเงินจ๊าด กรณี ธนาคารกลางเมียนมา (CBM : Central Bank of Myanmar) มีคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง
เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมามีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าตที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์สหรัฐ เป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาล เพื่อป้องกันความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น
รัฐบาลเมียนมายังดำเนินมาตรการห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งยังจำกัดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปรุงอาหาร เพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ แม้จะยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินบาทเพื่อการค้าชายแดนกับจีนและไทยอยู่ก็ตาม
นักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมารายหนึ่งบอกกับฐานเศรษฐกิจว่า การที่ธนาคารกลางเมียนมา มีคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ อาจจะกระทบกับนักลงทุนไทยรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาอย่างแน่นอน (อ่านเพิ่มเติม: “เมียนมา” สั่งระงับชำระหนี้ ตปท. เอกชนชี้ กระทบความเชื่อมั่นลงทุนไทย-เทศ)
ขณะนี้ต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวที่ออกมาว่าจะมีการห้ามนำเงิน หรือกำไรที่ได้จากการลงทุนออกนอกประเทศด้วยหรือไม่
ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 เงินลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศเมียนมา มียอดคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 4,839.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทจะมีมูลค่า 174,234.24 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม: แบงก์ชาติเมียนมาเข้าตาจน! สั่งธุรกิจ-ผู้กู้รายย่อยระงับชำระหนี้ตปท.