ช่วงสองวันมานี้ ข่าวใหญ่ที่หลุดออกมาจากประเทศเมียนมา เพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยเรา มีความยาวสองพันสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร ก็เป็นข่าวการประกาศของ ธนาคารกลางของประเทศเมียนมา หรือ Central Bank of Myanmar ที่ให้ทุกภาคส่วน ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ ที่เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินในลักษณะใดๆก็ตาม สร้างความตื่นตะหนกกันไปทั่ว ผมเองก็ได้รับโทรศัพท์เข้ามาสอบถามกันเยอะมาก ตอบแทบไม่ทันเลยครับ
ผมต้องบอกว่า เหตุการณ์เช่นนี้ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็พอจะนำมาเทียบเคียงได้ คือเมื่อช่วงปี 1994-96 ซึ่งผมเองก็จำปีที่แน่นอนไม่ค่อยได้ แต่จำเหตุการณ์นั้นได้ดีมากครับ เพราะอยู่ในช่วงที่ผมเข้าไปทำมาหากินที่นั่นใหม่ๆ ในยุคนั้นประเทศเมียนมาเองก็ถูกชาติตะวันตกแซงก์ชันเหมือนยุคนี้ ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในยุคนั้นมีน้อยมาก รัฐบาลเมียนมาได้ออกนโยบายหนึ่งออกมา คือนโยบาย Imports First exports Later เพื่อพยุงไม่ให้การขาดดุลการค้า ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยลง ซึ่งก็ได้ผลจริงๆครับ เพราะว่านโยบายดังกล่าว ผู้ที่จะนำเข้าสินค้าเข้าไปขาย หากทำแบบถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อนำสินค้าเข้าไปในประเทศ จะต้องส่งสินค้าออกมาขายนอกประเทศในมูลค่าที่เท่ากัน
แต่ความฉลาดของนักธุรกิจ ไหนเลยจะยอมแพ้ง่ายๆ เขาจึงวิ่งหาซื้อใบส่งออกสินค้า ที่รวบรวมให้มีมูลค่าเท่ากัน จากผู้ส่งออกสินค้าแล้วไม่มีการนำเข้าสินค้า จึงทำให้ใบสำคัญในการส่งออกสินค้ามีมูลค่า ถ้าผมจำไม่ผิดสามารถขายได้ประมาณ 1-3%ของมูลค่าที่สำแดงอยู่ ซึ่งผู้ส่งออกจะมีกำไรเพิ่มจากกำไรที่ควรจะได้อีกต่อหนึ่ง สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งออกมานอกประเทศ คือสินค้าเกษตรพื้นฐานและสินค้าประมงเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สินค้าที่นำเข้าในยุคนั้น จะเป็นรถยนต์และเครื่องจักรกล เครื่องจักรการเกษตร ซึ่งการนำเข้า-ส่งออกในยุค ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ทางการประกาศไว้ คือ 6.5 จ๊าดต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำไปทำมาก็กำไรกันบานเบอะครับ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดอยู่ที่ 800-1,200 จ๊าดต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ ต่อมาในยุคของท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ท่านได้ออกนโยบายยกเลิกกฎระเบียบดังกล่าว พร้อมทั้งยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนสองอัตรา ทำให้การเปิดเสรีทางการค้าต่างประเทศ เริ่มกลับมาสู่โลกเสรีนิยมมากยิ่งขึ้นครับ
ในยุคนี้ เมื่อประเทศเมียนมาประสบปัญหาสองเด้ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลงไป รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการพยายามออกมาตรการต่างๆ ออกมา เช่นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ได้มีการออกกฎระเบียบการห้ามนำเข้าสินค้า 6 ประเภทเข้ามาทางชายแดน เพื่อลดการขาดดุลการค้า และต่อมาเมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ ก็ได้ออกมาตรการบังคับให้บริษัทต่างๆ ที่มีเงินฝากหรือเงินชำระค่าสินค้าที่เป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐ ให้แลกเป็นเงินจ๊าดภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยในการพยุงมิให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ
จากการดำเนินมาตรการต่างๆดังกล่าวไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถดถอยน้อยลงได้ ดังนั้น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา จึงได้มีการออกประกาศให้ทุกภาคส่วน ระงับการชำระหนี้ที่เป็นหนี้สกุลเหรียญสหรัฐออกไปก่อน แต่ยังคงผ่อนปรนให้มีการใช้นโยบายบาท-จ๊าด และหยวน-จ๊าด ในการดำเนินการค้าชายแดนต่อไป
ระเบียบการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบทั้งในด้านบวกและลบต่อการค้า-การลงทุนของธุรกิจไทยอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจัยที่นำไปสู่มาตรการสั่งพักชำระหนี้เป็นเงินสกุลสหรัฐ นอกจากผลที่ทางการปกป้องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีน้อยอยู่แล้ว มิให้เกิดปัญหาการขาดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแล้ว ยังมีผลอันเนื่องมาจากการขาดดุลการค้าและบริการ และการต้องชำระหนี้เงินกู้ ที่ทุกปีจะต้องมีการชำระไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การระงับชำระเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เมียนมาสามารถยืนหยัดอยู่ได้นั่นเอง
ส่วนผลที่จะกระทบต่อนักธุรกิจไทย ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา ถ้ามองในทางที่เป็นลบก่อนนะครับ ผมคิดว่ากลุ่มที่เข้าไปลงทุนทางตรง ที่ต้องกู้หนี้ยืมสินจากธนาคารพาณิชย์ ที่ต้องใช้หลักทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศตนเอง อันนี้หนีไม่รอดที่จะต้องยอมรับผลกระทบนี้ เพราะธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จะไม่ยอมเสี่ยงให้เป็นหนี้เสีย จะต้องบังคับหนี้อย่างสุดฤทธิ์สุดเดชแน่ ๆ ส่วนบริษัทที่ซื้อมา-ขายไป หากนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งเป็นการนำเข้าทางเรือ ไม่สามารถใช้นโยบายบาท-จ๊าดได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขของทางการกำหนด ในใบขนขาเข้าของประเทศเมียนมา จะต้องสำแดงมูลค่าสินค้าเป็นเงินเหรียญสหรัฐอยู่แล้ว ก็จะต้องชำระหนี้คืนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐเท่านั้น ดังนั้นก็จะต้องได้รับผลในทางลบเช่นกัน
สำหรับผู้ประกอบการที่นำเข้าทางด่านชายแดน และทำถูกต้องตามกฎหมาย มีการสำแดงมูลค่าโดยใช้บาท-จ๊าด จะไม่ได้รับผลกระทบเลย ในทางกลับกันยังเป็นโอกาสดีเสียอีก ที่จะได้อานิสงส์ในนโยบายนี้ครับ เพราะคู่แข่งที่เป็นสินค้าจากชาติอื่นๆ ที่ไม่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเมียนมา ก็จะไม่มีนโยบายการเงินที่กล่าวมาแล้วมาช่วยเหลือ ย่อมเสียแต้มต่อให้แก่สินค้าไทยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ครับ นี่คือสัจจธรรมที่กล่าวว่า “ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ” ครับ
ดังนั้น หลังจากได้เห็นการประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งตื่นตะหนก เราต้องนิ่ง ๆ อย่าเพิ่งรีบด่วนในการสรุปผล คงต้องใจเย็นๆรอเวลาสักสอง-สามอาทิตย์ก่อน เพราะละครยังไม่จบ ฉากสุดท้ายพระเอกอาจจะออกมาตอนหลังก็ได้ครับ