ในงานสัมมนา NEW ENERGY : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน จัดโดยฐานเศรษฐกิจ (19 ก.ย. 2565) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ว่า ไทยปล่อยคาร์บอนประมาณปีละ 300 ล้านตัน สัดส่วน 64% มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง โดยภาคพลังงงานในเรื่องการผลิตไฟฟ้านั้น ไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 70% มาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 16% จากถ่านหิน และอีก 2% มาจากน้ำมันเตาและ 11% มาจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด และสามารถลดภาวะโลกร้อนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ไทยต้องใช้พลังงานหมุนเวียนให้เพิ่มมากขึ้น หากไม่มีมาตรการเร่งรัด การจะปรับเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน จาก 11% ให้ขยับขึ้นอาจต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นการที่ไทยจะเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ในปี 2065 ต้องเร่งและจัดทำแผนต่าง ๆ
ทั้งนี้เดิมกระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานชาติไว้ 5 แผน คือ แผนพลังงานไฟฟ้า PDP (Thailand Power. Development Plan : PDP) เป็นหลักสำคัญ และยังมีแผนย่อยอีก 4 แผน ได้แก่ แผนน้ำมัน แผนก๊าซฯ แผนอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า เป็นงานที่แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ และนำมาประกอบร่างเข้าด้วยกัน และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 ตุลาคม 2563 ซึ่งครม. ได้มีมติให้นำแผนทั้งหมดมาบูรณาการใหม่ ทำให้ออกมาเป็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นนโยบายที่มีทิศทางชัดเจน ในการกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยดูจากทิศทางพลังงานโลกและทิศทางพลังงานไทย
อย่างไรก็ดีทิศทางพลังงานโลกในอีก 10 ปีนับจากนี้ พลังงานฟอสซิลยังเป็นพลังงานหลัก และในอนาคตการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานสะอาดจะเป็นพระเอก ขณะที่จะมีเทคโนโลยีจากพลังงานทดแทนทำให้ต้นทุนไฟฟ้าถูกลง เช่น พลังงานจากโซลาร์ ลม ไบโอแมส
“เราจะเริ่มดำเนินการในหลายๆ ด้านในเรื่องไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในแผน PDP เรากำหนดไว้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ โดยประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ มาจากโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อป 3,000 เมกะวัตต์ และ 2,700-2,800 เมกะวัตต์ มาจาก floating solar ตามเขื่อนต่าง ๆ ที่ดำเนินการแล้ว คือ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินทร และจะขยายต่อไปอีกในส่วนชีวมวล ชีวภาพ ที่เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนอีก 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรมอีก 200 เมกะวัตต์ และจะนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาวเข้ามาอีก 2,000 เมกะวัตต์”
นายกุลิศ กล่าวอีกว่าการก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิสไปสู่พลังงานสะอาด ในขณะนี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ วิกฤติพลังงานที่มีความผันผวนอย่างมาก แม้วันนี้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แต่ที่ยังไม่ดีขึ้นคือก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ราคายังขึ้น-ลง จากช่วงโควิดอยู่ที่ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ล่าสุดวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาอยู่ อยู่ที่ 41.72 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งหากจะผลิตไฟฟ้าให้มีค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมต้องอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู
หากเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรป ความต้องการใช้สูง ราคา LNG จะสูงขึ้นอีก ดังนั้นกระทรวงพลังงานต้องเตรียมการรับมือ เช่นใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เพราะวันนี้ราคาถูกกว่า LNG การเพิ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้ดีเซลในการผลิตได้ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะโรงที่ 8 ที่ต้องปลดระวาง ธ.ค. 2564 วันนี้ก็ยังต้องขอใช้อยู่และยังต้องเพิ่มโรงที่ 4 ที่แม่เมาะอีกโรงเพื่อรับมือกับราคาพลังงานผันผวน
“นอกจากนี้การเจรจาซื้อก๊าซจากแหล่ง MTJA หรือ องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ที่อาจจะต้องให้ราคาเขาสูงขึ้นแต่ก็ยังถูกกว่าที่จะต้องไปจ่ายค่า LNG นี่คือมาตรการที่กระทรวงพลังงานจะต้องนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อที่จะอนุมัติเตรียมการไว้ในไตรมาสสุดท้าย เพื่อไม่ให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น อันนี้คือการดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาพลังงานสะอาด” นายกุลิศกล่าว
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อ “พีดีพี Action Plan การจัดหาพลังงานสะอาดของประเทศ” ว่า สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ แผน PDP 2022 ที่เป็นแผนผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของประเทศที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ช่วงปลายปี และจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในต้นปี 2566 และจะเป็นแผนที่ใช้ไปจนถึงปี 2580 ซึ่งจะมีการทบทวนแผนเป็นระยะ
สำหรับแผนพีดีพีฉบับใหม่นั้น ตั้งอยู่บนสมมุติฐาน 2 อย่าง ได้แก่ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่มีอยู่ และเป้าหมายเรื่องการตอบโจทย์เรื่องการไปสู่ Net Zero Carbon ของประเทศไทยโดยในแผนดังกล่าว ในเบื้องต้นจะมีการเพิ่มน้ำหนักเรื่องของพลังงานหมุนเวียนโดยจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 2573 ซึ่งจะเน้นไปที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ประเทศไทยยังมีศักยภาพพลังงานนี้อยู่อีกมาก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2580 ไทยจะมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากถึง 18.4 ล้านเมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะรวมถึงโซลาร์ฟาร์ม การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้าน ที่อยู่อาศัย และโซลาร์ฟาร์มที่มีระบบกักเก็บไฟฟ้าด้วย
ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนพีดีพีฉบับนี้ยังมีอยู่จำนวน 1 โรงที่จะเข้าสู่ระบบในปี 2569 จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของประเทศไทย โดยมีระยะเวลาในการผลิตไฟฟ้า 20 ปีตามสัญญา จากนั้นโรงไฟฟ้าที่เป็นโรงไฟฟ้าฐานในประเทศไทยจะเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ผสมกับก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าฐานที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่โรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
“แผนพีดีพีฉบับใหม่ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเช่น การใช้รถ EV มากขึ้นที่ต้องมาวางแผนเรื่องการรองรับการชาร์จไฟฟ้าของคนที่จะชาร์จรถมากขึ้นในช่วงหัวค่ำ ซึ่งก็ต้องมีการรองรับพีคโหลดในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ ส่วนหากชาร์จไฟในเวลาที่ไม่ใช่พีคโหลดก็จะมีการลดราคาค่าไฟฟ้าลงเพื่อจูงใจให้ชาร์จไฟนอกเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้น”
นายวัฒนพงษ์ กล่าวตอนท้ายว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ให้เหลือ 0% ในปี 2050 ดังนั้นแผน PDP ฉบับใหม่จะรับกับทิศทางพลังงาน เรื่องการใช้พลังงานสะอาด ลดก๊าซเรือนกระจก และลดโลกร้อน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3820 วันที่ 22 -24 กันยายน 2565