วัฒนพงษ์ คุโรวาท อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในการบรรบายหัวข้อ "พีดีพี Action Plan การจัดหาพลังงานสะอาดของประเทศ" ในงาน New Energy แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน ซึ่งจัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) หรือ แผน PDP 2022 ที่เป็นแผนผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของประเทศที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในเดือน ต.ค.นี้
ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ช่วงปลายปีและจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในต้นปี 2566 และเป็นแผนที่ใช้ไปจนถึงปี 2580 โดยปกติจะมีการทบทวนแผนเป็นระยะ
สำหรับแผนพีดีพีฉบับใหม่นั้น ตั้งอยู่บนสมมุติฐาน 2 อย่าง ได้แก่ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่มีอยู่ และเป้าหมายเรื่องการตอบโจทย์เรื่องการไปสู่ Net Zero Carbon ของประเทศไทย ซึ่งหากให้น้ำหนักในเรื่องของการไปสู่การลดคาร์บอนฯมากก็ต้องคำนึงถึงการลงทุนในเรื่องของสายส่งไฟฟ้า และส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
โดยในแผนนี้เบื้องต้นจะมีการเพิ่มน้ำหนักเรื่องของพลังงานหมุนเวียนโดยจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1 หมื่นเมกกะวัตต์ภายในปี 2573 ซึ่งจะเน้นไปที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ประเทศไทยยังมีศักยภาพพลังงานนี้อยู่อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2580 ประเทศไทยจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากถึง 18.4 ล้านเมกกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะรวมถึงโซลาร์ฟาร์ม การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้าน ที่อยู่อาศัย และโซลาร์ฟาร์มที่มีระบบกักเก็บไฟฟ้าด้วย
ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนพีดีพีฉบับนี้ยังมีอยู่จำนวน 1 โรงที่จะเข้าสู่ระบบในปี 2569 จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายของประเทศไทย โดยมีระยะเวลาในการผลิตไฟฟ้า 20 ปีตามสัญญา จากนั้นโรงไฟฟ้าที่เป็นโรงไฟฟ้าฐานในประเทศไทยจะเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ผสมกับก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าฐานที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่โรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้แผนพีดีพีฉบับใหม่ยังคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเช่น การใช้รถ EV มากขึ้นที่ต้องมาวางแผนเรื่องการรองรับการชาร์จไฟฟ้าของคนที่จะชาร์จรถมากขึ้นในช่วงหัวค่ำ ซึ่งก็ต้องมีการรองรับพีคโหลดในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ ส่วนหากชาร์จไฟในเวลาที่มไม่ใช่พีคโหลดก็จะมีการลดราคาค่าไฟฟ้าลงเพื่อจูงใจให้ชาร์จไฟนอกเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้น
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ให้เหลือ 0% ในปี 2050 ขณะที่ในปัจจุบันยังมีการปล่อยคาร์บอนฯอยู่ที่ 300 ล้านตันต่อปี คิดเป็นต้นทุนที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอน (carbon liability) ปีละประมาณ 9 แสนล้าน – 1 ล้านล้านบาท
ปัจจุบันภาคส่วนที่มีการปล่อยคาร์บอนฯมากที่สุดคือภาคพลังงานซึ่งการปล่อยคาร์บอนฯที่สูงออกสู่ชั้นบรรยากาศมาจากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะสามารถไปถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนฯให้เป็นศูนย์ได้จะต้องมีการปรับปรุง แผน PDP 2022 ของประเทศฉบับใหม่ให้สอดคล้องตามนโยบายดังกล่าว
"แผน PDP ฉบับใหม่จะรับกับทิศทางพลังงาน เรื่องการใช้พลังงานสะอาด โลกร้อน กรอบต่างๆ การลดก๊าซปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคพลังงานเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์"