หลังจากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดให้มีโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development)” หรือโครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG”
โดยได้เปิดรับบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ 7,435 ตำบล 77 จังหวัด กว่า 68,350 คน เข้าทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยรัฐ 70 กว่าแห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง ตลอดจนภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนโครงการ U2T for BCG และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
ทีมศรีสะอาด เป็นหนึ่งในทีมที่เข้าร่วมทำงานในโครงการนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยรับผิดชอบตำบลศรีสะอาด อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันตำบลศรีสะอาดมีฐานะเป็นเทศบาลตำบลศรีสะอาด มีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน คือ
หมู่ 1 บ้านสะอาก หมู่ 2 บ้านภูมิร่มเย็น หมู่ 3 บ้านคล้อ หมู่ 4 บ้านศรีษะกระบือ หมู่ 5 บ้านโคกกว้าง หมู่ 6 บ้านศรีสะอาด หมู่ 7 บ้านศรีสมบูรณ์ หมู่ 8 บ้านตะเคียนบังอีง และหมู่ 9 บ้านหนองตะเคียน โดยเป็น 1 ใน 22 ตำบล ของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีจำนวนประชากรในตำบลทั้งสิ้น 4,181 คน
ทั้งนี้ ทีมศรีสะอาดค้นพบว่า ชาวบ้านในตำบลศรีสะอาดส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตรกรรม โดยปลูกพืชทางการเกษตรมากที่สุดถึงร้อยละ 95 ของพื้นที่ คือ ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกไม้ผล ปลูกปอและ ยางพารา ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของคนในพื้นที่ในการทำอาชีพเกษตรกรรม แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาด้านรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ชาวบ้านต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น ทีมศรีสะอาด จึงคิดค้นโครงการ การพัฒนาและแปรรูปไพลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) โดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์และเชิญชวน ชาวบ้านในตำบลศรีสะอาดให้หันมาปลูกไพล ซึ่งเป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณในการรักษาอาการอักเสบและปวดตามร่างกาย และนำไพลที่ปลูกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดจำหน่ายและสร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านและชุมชน อาทิเช่น สเปรย์น้ำมันไพลศรีสะอาด เจลไพลศรีสะอาด ครีมนวดไพลศรีสะอาด และน้ำมันไพลศรีสะอาด
สำหรับการปลูกพืชสมุนไพรไพล นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ของชาวบ้านและชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นองค์ความรู้ให้อยู่คู่กับชาวบ้านและชุมชนสืบไป อีกทั้งยังเป็นเศรษฐกิจฐานราก ที่จะช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการขายข้าวที่เป็นรายได้หลักของชาวบ้านในพื้นที่ หรือการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่ชาวบ้านเคยปลูกอยู่แต่เดิม
นอกจากนี้ สมุนไพรไพล สามารถปลูกได้ง่ายในพื้นที่ว่าง และใช้เวลาปลูกเพียง 10 เดือน ก็สามารถนำหัวไพลดิบมาจำหน่ายได้ ซึ่งมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก แต่หากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงมากขึ้นด้วย
ต่อมา ทีมศรีสะอาดได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการ โครงการการพัฒนาและแปรรูปไพล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) โดยสมาชิกของทีมศรีสะอาดมีกันทั้งสิ้น 10 คน แบ่งเป็นนักศึกษาที่จบปริญญาตรีในพื้นที่ 7 คน และประชาชนในพื้นที่ 3 คน มี นายกฤษฎารัตน์ ลีเขาสูง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูล และประสานงานกับทางคณะผู้บริหารเทศบาลตำบล(ทต.)ศรีสะอา ดและชาวบ้านในตำบลศรีสะอาด ทั้ง 9 หมู่บ้าน รวมกว่า 40 คน
จากนั้นได้ร่วมกันทำกิจกรรมในโครงการ การพัฒนาและแปรรูปไพลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ด้วยการจัดอบรมทางวิชาการ เกี่ยวกับการปลูกพืชสมุนไพรไพลและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไพล รวมทั้ง การจัดอบรมความรู้ด้านการตลาดเบื้องต้น เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย กำไรและขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของการปลูกไพลและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไพลศรีสะอาดให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งจัดขึ้นที่วัดศรีสะอาด และที่เทศบาลตำบลศรีสะอาด
การจัดทำกิจกรรมดังกล่าว เกิดผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม โดยชาวบ้านในตำบลศรีสะอาดได้รับความรู้ ความเข้าใจ และทราบถึงคุณค่า ประโยชน์ และสรรพคุณทางยาสมุนไพรของไพล รวมทั้งได้ช่วยกันปลูกไพล และแปรรูปผลิตภัณฑ์ไพลในชื่อแบรนด์ “ไพลศรีสะอาด” โดยมีแพ็กเกจจิ้งที่มีทั้งสเปรย์น้ำมันไพลศรีสะอาด เจลไพลศรีสะอาด ครีมนวดไพลศรีสะอาด และน้ำมันไพลศรีสะอาด ซึ่งเป็นสินค้าและความภาคภูมิใจของชาวตำบลศรีสะอาด เพื่อจัดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ต่อไป
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ร่วมกับทาง อว.ส่วนหน้า และทางสำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการโครงการ U2T for BCE ขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2565 โดยเป็นงานมหกรรมสินค้าและการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน จากทุกตำบลในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร ที่ชาวบ้านและบัณฑิตจบใหม่ในพื้นที่ได้ร่วมกันคิดค้น ต่อยอดและจัดทำสินค้าขึ้นมาเป็นแบรนด์ของตำบลนั้น ๆ มาจัดแสดงและจำหน่ายภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือโครงการ U2T for BCG