แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน จำนวน 3 คน เพื่อให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนมีองค์ประกอบครบถ้วน สามารถขับเคลื่อนแนวทางการปฎิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ประธานกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน จึงแต่งตั้ง ดังนี้
1.นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
2.นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. นายพิทักษ์ อบสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน จะทำหน้าที่พิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ซึ่งปี 2568 งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนเด็กในแต่ละปี) ได้เพิ่ม 3 ผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามามีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และจัดสรรสิทธิการจำหน่ายให้เป็นไปอย่างเป็นธรรม โดย กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม ฟื้นฟู และพัฒนา เพิ่มคุณภาพในการจัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง
รวมถึงการยกระดับการดำเนินธุรกิจ เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้แก่สมาชิก และได้ร่วมกันบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกราย รวมทั้งพิจารณาเรื่องการปรับเพิ่มราคากลางผลิตภัณฑ์นมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป
อนึ่ง การแบ่งพื้นที่นมโรงเรียนประจำปี 2568 สัดส่วนสหกรณ์ 50% และเอกชนที่ไม่ใช่สหกรณ์ 50% ได้แก่ กลุ่มที่ 1 (เขต 1) ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานอนุกรรมการ และกรมส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดสระบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ, กลุ่มที่ 2 (เขต 2 และเขต 3) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานอนุกรรมการ และสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมาเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
กลุ่มที่ 3 (เขต 4 ) ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานอนุกรรมการ และสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ, กลุ่มที่ 4 (เขต 5,6) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานอนุกรรมการ และให้สกรณ์จังหวัดเชียงใหม่เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และกลุ่ม 5 (เขต 7,8,9) ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นประธานอนุกรรมการ และสหกรณ์จังหวัดราชบุรีเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
พลิกปูมประวัติศาสตร์นมโรงเรียน
ในช่วงปี 2552 เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด คณะรัฐมนตรีจึงได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นกลไกของรัฐ ในการรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกินนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และมีมติในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1.คณะรัฐมนตรี (28 ม.ค. 2552) เห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ หน่วยงานรัฐ ที่มีงบประมาณจัดซื้อนมพร้อมดื่ม จัดซื้อจาก อ.ส.ค. ได้ โดยวิธีกรณีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้ อ.ส.ค. ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2552
3.คณะรัฐมนตรีมีมติ (13 พ.ค. 2552) เห็นชอบให้ อปท. จัดซื้อนม ยู.เอช.ที. สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 โดยวิธีกรณีพิเศษ จาก อ.ส.ค. และผู้ประกอบการนม ยู.เอช.ที. อีก 4 ราย ที่ช่วยรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกินตามแผนการดื่มนมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 ก.ย. 2552
4.คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มิ.ย. 2552) เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 (ตามข้อ 2.1.2) ในประเด็นเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณส่วนที่เหลือกว่า 2 พันล้านบาท โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 604 ล้านบาท ให้แก่ อ.ส.ค. เพื่อจัดซื้อนม ยู.เอช.ที. จำนวน 80 ล้านกล่อง ส่งมอบให้เด็กก่อนวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ดื่มเป็นเวลา 15 วัน สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ และจำนวนกว่า 1,458 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยนำไปจัดสรรให้ อปท. และกระทรวงศึกษาธิการ นำไปจัดซื้อนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ให้ครบถ้วน
5.คณะรัฐมนตรี (15 ธ.ค. 2552) เห็นชอบในหลักการแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน (แบ่งโครงสร้างบริหารจำนวน 5 ข้อ และแนวทางการบริหาร จำนวน 4 ข้อ) ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ครั้งที่ 8 /2552 เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2552 และครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2552 มีโครงสร้างบริหารนมโรงเรียนให้มีองค์กรกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลาง 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ ฝ่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูป และผู้แทนฝ่ายจัดซื้อ รวม 19 คน เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการระบบนมโรงเรียน โดยให้ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการขององค์กรกลาง เป็นผู้แทนในการบริหารจัดการ (คณะกรรมการกลาง เป็นคณะอนุกรรมการในกำกับการดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม)
6.คณะรัฐมนตรี (26 มี.ค. 2562) ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการนมโรงเรียนใหม่ โดยแยกโครงสร้างการบริหารออกจากมิลค์บอร์ด เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นกรรมการ จึงได้แต่งตั้ง "คณะกรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน" จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ, หน่วยงานที่กำกับดูแล จำนวน 4 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผลิต จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการแต่งตั้ง จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ปัจจุบัน
ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ในการจัดสรรสิทธิพื้นที่จำหน่ายระหว่างผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันเกษตรกรกับผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นสัดส่วน 50:50 ของปริมาณสิทธิที่พึงได้รับจัดสรรในกลุ่มพื้นที่เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น