เจาะเบื้องลึก เบื้องหลัง ปัญหา "ราคายางพารา" ตกต่ำ

31 ส.ค. 2565 | 06:08 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 13:52 น.

กูรูยางพารา เปิดสาเหตุ เบื้องลึกราคายางพาราตกต่ำ แบบเจาะลึก “สุนทร” ชี้ 4 ปัจจัยลบดึงราคายางร่วง ทิ้งดิ่ง กระทุ้ง “ประกันรายได้เกษตรกร” ประกันรายได้ยางพารา ปี 4 ปลุกราคา “สมาคมน้ำยางข้นไทย-นอร์ทอีส รับเบอร์” หวังลุ้นโค้งสุดท้ายปลายปี คู่ค้ากำลังซื้อฟื้น สหรัฐฯลดภาษีจีน

เจาะเบื้องลึก เบื้องหลัง ปัญหา \"ราคายางพารา\" ตกต่ำ

 

นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ว่าราคาน้ำยางสด หากเปรียบเทียบกับปีที่ราคา ซื้ออยู่ประมาณ 46-47 บาท/กิโลกรัม และใกล้เคียงกับราคาน้ำยางแผ่นดิบ 48 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาขี้ยาง ก็ปรับลงมาที่ 42 บาท/กิโลกรัม พิจารณาในภาพรวมยังแพงและถือว่ายังอยู่ในราคาที่ฐานสูงอยู่

 

โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกมาก ก็จะมีการแย่งซื้อกันระหว่างน้ำยางกับโรงงานยางแผ่น ทำให้ราคาปรับขึ้น บางช่วงสูงกว่าราคายางแผ่นดิบอีก แต่ถ้าฝนตกน้อยก็เป็นไปตามกลไกตลาด ช่วงนี้ตลาดส่งออกค่อนข้างหนืดขายยาก จากความต้องการถุงมือหายไป เพราะผลิตภัณฑ์หลักที่ใช้ชะลอหมด จากสต๊อกยังเหลือเยอะ สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายลงมาแล้ว ส่งผลทำให้การชะลอซื้อตามกันไปหมด แต่ถ้าฝนยังมีตกต่อเนื่อง ราคาจะลงต่ำก็ยาก เพราะซัพพลายมีน้อย

 

“ส่วนตลาดจีน ก่อนหน้านี้ยังมีแรงซื้อ แต่ตอนนี้เริ่มชะลอลงไป จากมีปัญหาในเรื่องโควิดมีการปิดท่าเทียบเรืออีกแล้ว ส่งผลทำให้ลูกค้าเริ่มชะลอรับของที่จะส่งมอบแล้ว แต่ก็ไม่ได้วิกฤติแบบมาเลเซีย (ถุงมือยาง) ยังมีกำลังซื้ออยู่  แต่ถ้ามาดูที่ราคายังดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งต้องดูต่อไปว่าสถานการณ์จะคลี่คลายดีขึ้นหรือไม่ หวังว่าไตรมาส 4 แรงซื้อจะกลับมา เพราะใกล้ช่วงสิ้นปี อาจจะมีแรงซื้อกลับมาจากปีหน้าเข้าสู่ผลัดใบ และปีนี้มรสุมภาคใต้น่าจะเยอะเผชิญฝนตกน้ำท่วม นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว”

 

เจาะเบื้องลึก เบื้องหลัง ปัญหา \"ราคายางพารา\" ตกต่ำ

 

ขณะที่นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ NER กล่าวว่า  สถานการณ์ราคายางทรงตัว ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีทุกคนมีความกังวล กลัวตลาดถดถอยการบริโภคจะน้อยลง ตลาดไตรมาส 4 คาดออกแนวซึม แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับจีน ซึ่งเหมือนว่าจะซื้อเยอะขึ้น เดือนกันยายน เดือนตุลาคม และ เดือนพฤศจิกายน เยอะมาก

 

แต่ไม่รู้สถานการณ์ข้างหน้าคาดเดายาก แล้วไม่สามารถดึงราคาในประเทศได้ เพราะไม่ต่อเนื่อง พิจารณาคู่ค้าแล้วยังไม่ค่อยมีความมั่นใจ แต่ถ้ามีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง ก็จะช่วยดึงราคาได้ ตอนนี้ต้องดู ไบเดน หากยอมลดภาษีนำเข้าให้จากจีน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับธุรกิจหลายตัวไม่เฉพาะสินค้ายางประเภทเดียว สังเกตจีนเริ่มสั่งออร์เดอร์เริ่มเยอะแล้ว อาจจะมีแอบลดภาษีกันให้หรือไม่  ก็ต้องจับตากันใกล้ชิด

สุนทร รักษ์รงค์

 

ปิดท้าย นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการยางการแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) กล่าวว่า ขอพูดในฐานะนักเคลื่อนไหว วันนี้ผมเดินสายในภาคใต้ เจอคำถามว่าเมื่อไหร่ราคายางจะสูงขึ้น พี่น้องเดือดร้อนกันมาก แต่ความจริงต้องพูด ขอให้รับฟังด้วยใจเป็นกลาง และช่วยกันหาทางออกร่วมกัน ตัองเอาความจริงมาวางบนโต๊ะ

 

กว่า 50 ปี ยางพาราไทย ไม่เคยปรากฏว่าราคายางขึ้นลงเพราะนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ขี้หกเพ ที่ผ่านมาราคายางเคยสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมันดิบ เศรษฐกิจโลกดีขึ้นจากการเปิดประเทศของจีนในอดีต ทำให้มีการใช้ยางในอุตสาหกรรมมากขึ้น อันนี้ผมมีงานวิจัยรองรับข้อเท็จจริงนี้

 

ราคายางที่ตกต่ำตอนนี้เพราะ 4 สาเหตุใหญ่ คือ  1 Geo Politics สงครามรัฐเซีย-ยูเครน ลุกลามมาตึงเครียดที่ไต้หวัน จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อุตสาหกรรมยางได้รับผลกระทบ , 2.  Zero Covid ที่ประเทศจีน ทำให้เกิดอุปสรรคในการส่งออกยางไปประเทศจีน และในเดือนตุลาคมที่จะถึงเป็นวันชาติจีน ตลาดยางหยุดยาวนับ 10 วัน ก็จะส่งผลกระทบกับราคายาง

 

3.ปัจจุบันความต้องการใช้ถุงมือยางธรรมชาติทางการแพทย์ลดลง จากความเคยชินเรื่องโควิด แตกต่างจาก 2 ปี ที่ผ่านมา เกิดดีมานด์ใช้ถุงมือทางการแพทย์สูงผิดปกติ(ปกติอัตราการเติบโต 8-10%) ทำให้มีสต๊อกถุงมือยางทางการแพทย์ค้างจำนวนมาก 4. ปัญหาการขาดแคลน Semi Conductor ซึ่งเป็นชิพที่สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไต้หวันเป็นผู้ผลิต ชิพนี้ 64% ของโลก ก็เจอความตึงเครียดเรื่องสงคราม ทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์

 

เจาะเบื้องลึก เบื้องหลัง ปัญหา \"ราคายางพารา\" ตกต่ำ

 

 5.รัฐสภายุโรป(EU) กำลังพิจารณากฎหมายว่าด้วยการไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากการบุกรุกทำลายป่า(Deforestation Regulation) ในวันที่ 12 กันยายน 2565 ตอนนี้ทุกภาคส่วนกำลังต่อสู้เพื่อไม่ให้รวมผลิตภัณฑ์ยางพาราเข้าไปในกฎหมายตอนนี้ แนวโน้มคาดว่า EU คงผ่านกฎหมายฉบับนี้ แต่คงไม่รวมผลิตภัณฑ์ยางพาราในขณะนี้ แต่ในอนาคตไม่แน่ครับ เพราะถูกต่อต้านอย่างหนักจากอินโดนีเซียและบราซิล

 

นายสุนทร กล่าวว่า ทางออกจากปัญหาและการเยียวยาแก้ไขในระยะสั้น 1. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ต้องตั้งวอรูมแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน มานั่งทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้  2.การยางแห่งประเทศไทย ทำได้เพียงการเข้ารักษาเสถียรภาพราคายางพารา และทำโครงการชะลอการขายยาง เพื่อประคับประคองไม่ให้ราคายางดิ่งไปมากกว่านี้ 3.คณะรัฐมนตรีต้องเร่งอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565-มีนาคม 2566

 

เจาะเบื้องลึก เบื้องหลัง ปัญหา \"ราคายางพารา\" ตกต่ำ

 

ส่วนในระยะยาว 1.เกษตรกรชาวสวนยางต้องปรับตัว เปลี่ยนแนวคิดจากการทำสวนยางเชิงเดี่ยว มาทำสวนยางยั่งยืน ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดเศรษฐกิจการพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้เสริมจากการทำสวนยางยั่งยืน 2.รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่มีพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้  7 ล้านไร่ โดยเร่งด่วน เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐตามกฎหมาย อันเป็นการปัองกันการกีดกันทางการค้า(Trade War) ในอนาคตอันใกล้

 

ด้าน สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา รายงานราคายางประจำวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2565