วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยบทวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราปี 2565 โดยประเมินว่าในปีนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมยางพาราของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการ โดยผลผลิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก ภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และการดูแลบำรุงรักษาของเกษตรกรเพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตจากราคาที่จูงใจ ขณะที่อุปทานจากอินโดนีเซียและมาเลเซียยังกลับมาไม่เต็มที่จากปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ด้านความต้องการเพิ่มขึ้นตามอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะการใช้ยางพาราเพื่อทดแทนยางสังเคราะห์ที่ราคาปรับสูงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สำหรับผลผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3%-4% อยู่ที่ 5.3-5.4 ล้านตัน แรงหนุนหลักมาจาก
1.การขยายพื้นที่ปลูกในช่วงปี 2546-2556 ทำให้ทยอยกรีดได้เพิ่มขึ้นและเป็นช่วงอายุที่ให้ผลผลิตน้ำยางต่อไร่สูง
2.สภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก โดยปริมาณฝนในภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ La Nina ที่ยังคงส่งผลต่อเนื่องราว 1-2 ปี
3.การเร่งกรีดยางของเกษตรกรจากทิศทางราคาที่จูงใจ แม้ว่า ผู้ผลิตบางพื้นที่ยังเผชิญปัญหาโรคใบร่วงยางพาราที่ระบาดอยู่ต่อเนื่อง
ปริมาณการจำหน่ายยางพาราทั้งปีคาดว่าจะเติบโตประมาณ 10%-12% โดยตลาดในประเทศคาดว่าจะขยายตัวราว 40%-50% ด้วยแรงหนุนจาก
1.ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยางพาราปลายน้ำหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้นทดแทนยางสังเคราะห์ที่ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
2.ความต้องการใช้เพื่อผลิตอุปกรณ์เครื่องมือยางทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยางจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังคงอยู่
3.มาตรการภาครัฐที่กระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศ อาทิ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ยังต้องใช้ยางพาราสำหรับล้อยางและชิ้นส่วนยางในสัดส่วนสูง การขยายฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศ การผลิตและใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ
ด้านการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ 2.0%-3.0% โดยมีแรงหนุนจาก
1.ความต้องการยางธรรมชาติมากขึ้นเพื่อทดแทนยางสังเคราะห์
2.จีนทยอยผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะยางล้อและรถยนต์ไฟฟ้ากลับมาดำเนินการผลิตได้
3. อุปทานที่มาจากประเทศคู่แข่ง (อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) ยังไม่กลับมาเต็มที่จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและโรคใบร่วงยางพารา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่กดดันให้การส่งออกเติบโตในอัตราไม่สูงนักเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ
ราคายางพาราทยอยปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2564 แต่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับต้นทุน โดยสต๊อก ณ สิ้นปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 ล้านตันลดลงจาก 1.3 ล้านตันในปีก่อน จะส่งผลให้ราคายางพาราปรับขึ้นเฉลี่ย 5-7% โดยคาดว่าราคายางพาราในประเทศยังคงทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต (ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบและราคาขายยางแผ่นดิบเฉลี่ยใกล้เคียงกันที่ 59-60 บาท/กิโลกรัม)
แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราไทยปี 2566-2567
แนวโน้มปี 2566-2567 คาดว่าธุรกิจจะเติบโตสูงขึ้น โดยมีแรงหนุนจากอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ กลุ่มยานยนต์ (ซึ่งรวมถึงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนสนับสนุนของภาครัฐ) ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง
ขณะที่มาตรการภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายางจะมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงจากการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งใน CLMV ที่สามารถขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น
ที่มาข้อมูล