JMT ทุ่มงบ4.5 พันล. ซื้อหนี้บริหารดันกำไรโต30%

03 มิ.ย. 2561 | 07:02 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2561 | 14:02 น.
บริษัทเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ JMT บริษัทในเครือที่บมจ.เจมาร์ท (JMART) ถือหุ้น 56.7% JMT ตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 เริ่มจากธุรกิจติดตามหนี้ให้บริษัทแม่ JMART จนเมื่อปี  2540 เกิดวิกฤติหนี้ บริษัทจึงเข้าสู่ธุรกิจเร่งรัดหนี้ ติดตามหนี้สินให้กับสถาบันการเงิน และในปี 2549 ได้เริ่มซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเอง

ปัจจุบัน JMT เป็นผู้ประกอบธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่สุดของประเทศไทย มีพอร์ตบริหารหนี้ประมาณ 1.28 แสนล้านบาท  และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 บริษัทฯได้แต่งตั้งนายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จากตำแหน่งก่อนหน้าเป็นผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด โดยเขาได้เข้ามาร่วมงานกับบริษัทเมื่อปี  2549

นายสุทธิรักษ์   กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมธุรกิจ JMT 3 เดือนแรกที่ผ่านมา เราค่อนข้างพอใจ บริษัทตั้งเป้าหมายทำกำไรจากธุรกิจบริหารหนี้ปีนี้ให้เติบโตได้ 30% จากปีที่แล้ว หรือเป็น 516 ล้านบาท โดยจะมาจากการที่บริษัทตั้งงบประมาณลงทุนในปีนี้ถึง 4,500 ล้านบาท จากปีก่อนๆ ที่ใช้งบลงทุนประมาณ  1,500 ล้านบาทเพื่อซื้อหนี้มาบริหารทั้งประเภทหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน โดยหนี้ที่มีหลักประกันจะเข้ามามีบทบาทมากในปีนี้ หลังจากที่เริ่มซื้อเมื่อปลายปีที่แล้ว

ทั้งนี้แหล่งเงินทุนมาจากการออกหุ้นกู้ของบริษัทเจมาร์ท วงเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นการทยอยออก ในไตรมาสแรกใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทในการซื้อพอร์ตหนี้  3,900 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท และหนี้ไม่มีหลักประกัน 2,700 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  บริษัทมีพอร์ตหนี้ที่บริหาร 128,525 ล้านบาท เป็นพอร์ตหนี้มีหลักประกัน 2,400  ล้านบาท  และไม่มีหลักประกันที่เป็นสินเชื่อบุคคลและหนี้บัตรเครดิต 72,000 ล้านบาทได้, สินเชื่อรถยนต์และจักรยานยนต์  53,000 ล้านบาท  18

บริษัทประเมินว่าหากใช้งบลงทุน  4,500 ล้านบาท คาดจะซื้อพอร์ตหนี้สูงสุด 55,000 ล้านบาท แต่ยังประเมินได้ยาก  เพราะหากเป็นพอร์ตหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่า   ราคาจะสูงทำให้ได้ปริมาณหนี้น้อยกว่าเป้าที่คาด

“สิ่งที่เห็นชัดเจนคือปริมาณหนี้คงค้างจากรายงานของธปท. ที่เป็นสินเชื่ออุปโภคจากการผิดนัดตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ล่าสุดมีประมาณ 1.1 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าหนี้ของระบบสถาบันการเงินยังมีการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาส นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายธุรกิจบริหารหนี้ไปยังประเทศเวียดนาม อยู่ระหว่างทำการศึกษาตลาด ส่วนที่กัมพูชา (JMT Cambodia Co.,Ltd .โดย JMT ถือหุ้น 100%) ได้เริ่มให้บริการอย่างไม่เป็นทางการแล้ว  ลูกค้าบางส่วนเริ่มทยอยมาใช้บริการ”

โครงสร้างรายได้ของบริษัทสัดส่วน  85% มาจากการซื้อพอร์ตหนี้มาบริหาร ส่วนอีก 14% มาจากรับจ้างบริหารหนี้    โดยพอร์ตหนี้ 128,525 ล้านบาทเป็นหนี้ 124 กอง จำนวนนี้ 40 กองมูลหนี้ 17,600 ล้านบาท สามารถรับรู้รายได้ทั้ง 100% แล้ว ยังเหลืออีก 84 กองที่อยู่ระหว่างการบริหาร โดยบริษัทมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นหรือมาร์จินประมาณ 60% และอัตราทำกำไรสุทธิอยู่ที่  28-29% ตั้งเป้ากระแสเงินสดเก็บปีนี้ 2,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกปีนี้จัดเก็บได้ 514 ล้านบาท

ไตรมาส 1/2561  บริษัทมีรายได้รวม 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนนี้เป็นรายได้จากการบริหารหนี้ 341 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% และมีกำไรขั้นต้น (gross profit) ที่  248 ล้านบาท  มีกำไรสุทธิ  (net profit ) 116 ล้านบาท โดยอัตรากำไรสุทธิ  29.0%  ขณะที่หนี้สินต่อทุนอยู่ที่  0.96 เท่า

หน้า17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,370 วันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2561

e-book-1-503x62-7