รอกฎหมายเว้นภาษี“พักทรัพย์ พักหนี้” ยื่นตีโอนทรัพย์กว่า 1 หมื่นล้าน

19 ก.ค. 2564 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 18:00 น.

ธปท. คาดสรรพากรประกาศใช้กฎหมายเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ "พักทรัพย์ พักหนี้" ภายในสัปดาห์นี้ ชี้ล่าสุดมีลูกหนี้แบงก์ยื่นตีโอนทรัพย์รอแล้วมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้าน ขณะที่ยอดอนุมัติโครงการล่าสุด 14 ราย มูลค่ารวมกว่า 959 ล้านบาท

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 14 ราย ยอดอนุมัติโครงการรวม 959 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล อาคารพาณิชย์ ธุรกิจสปา และโรงงานแปรรูป เป็นต้น โดยยอมรับว่าสาเหตุที่การขอเข้ามาตรการอาจน้อยเมื่อเทียบกับมาตรการอื่น เนื่องจากจะมีเรื่องของการโอนทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมมาตรการหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามสถาบันการเงิน พบว่า ขณะนี้ มีลูกหนี้ที่ได้ยื่นตีโอนทรัพย์มายังสถาบันการเงินรวมแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ทางสถาบันการเงินยังไม่ได้ยื่นขออนุมัติมายังธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากรอการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ ซึ่งได้มีการลงนามในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว จะยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์ 2% ของกระทรวงมหาดไทย ภาษีเงินได้และอากรแตมป์ ทั้งในขั้นตอนการรับโอน และขั้นตอนการซื้อทรัพย์คืน  ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากกรมสรรพากร คาดว่าจะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้ในสัปดาห์นี้

นางสาวสุวรรณี ได้ย้ำถึงหลักการในมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในธุรกิจที่มีทรัพย์สินที่สามารถตีโอนชำระหนี้ได้ ซึ่งลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์ที่ได้ทำการตีโอน หรือ ซื้อทรัพย์คืนได้เมื่อครบกำหนด โดยสถาบันการเงินจะให้สิทธิ์การซื้อคืนหรือเช่าทรัพย์เพื่อดำเนินธุรกิจระหว่างเข้าร่วมมาตรการแก่เจ้าของทรัพย์เป็นอันดับแรก และยังเพื่อไม่ให้เกิดการกว้านซื้อทรัพย์ในช่วงที่ราคาถูก หรือมีการกดราคาจากผู้ประกอบการ พร้อมย้ำ ธปท. จะเข้าไปดูแลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการคำนวณราคา ค่าเช่า และค่าดูแลระหว่างเข้าร่วมมาตรการในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ได้มีการเช่าเพื่อนำไปประกอบการธุรกิจ เพื่อไม่ให้ทรัพย์มีสภาพเสื่อมโสมและพร้อมสำหรับการเปิดดำเนินธุรกิจต่อได้

ตัวอย่างขั้นตอน "พักทรัพย์ พักหนี้"

สำหรับเงื่อนไข มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ได้แก่ 1.เป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ที่จดทะเบียนในไทย มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในไทย 2.เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินนั้นอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และ 3.ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน  ขณะที่ทรัพย์ที่ใช้ในการโอนตามมาตรการ ต้องเป็นทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้นก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564