SCBTคงประมาณการจีดีพีปี 64 อยู่ที่ 1.8% หวังคุมโควิดและฉีดวัคซีนเร็วขึ้นก่อนเดินหน้านโยบายการคลังกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ -หนุน 3ปัจจัยบวกไปต่อ “ คลัง-ท่องเที่ยว และส่งออก”เผยต่างชาติมองโอกาสขยายธุรกิจในไทย
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)หรือSCBT กล่าวว่า ธนาคารคงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยที่ 1.8% ในปี 2564 และ 3.1% ในปี 2565 โดยหวังว่าการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 และการเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นสำคัญที่สุดในขณะนี้ เพราะหากควบคุมโควิดและเร่งฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นจะทำให้เกิดปัจจัยด้านบวกในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ปัจจัยด้านบวกคือ นโยบายกาคคลัง การท่องเที่ยวและการส่งออก เพราะหากสามารถควบคุมโควิด หรือจำนวนผู้ติดเชื้อได้ รวมถึงสถานการณ์โควิดไม่ลามโรงงานหรืออุตสาหกรรมการผลิตจะเอื้อต่อการผลิตได้ จากนั้นจะเห็นการเดินหน้านโยบายทางการคลังอย่างมีประสิทธิภาพทั้งการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เพื่อให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยและเห็นการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสามารถเดินหน้าต่อไปได้
“ เมื่อควบคุมโควิดได้ และกระจายฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้นแล้ว จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำนโยบายการคลัง นอกจากเยียวยาแล้วต้องฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย”
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินนั้น มองว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันพุธที่ 4 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการกนง.จะมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%ต่อปี โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นกรรมการกนง.ท่านใดท่านหนึ่งเลือกโหวตให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากที่ผ่านมากนง.ส่งสัญญาณความเสี่ยง ทั้งสายพันธุ์เดลตาและล็อคดาวน์และแนวโน้มกนง.จะคงดอกเบี้ยต่ำในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ต้องเตรียมตัวสำหรับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของโลก ซึ่งธนาคารกลางต่างประเทศหลายแห่งส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้
ดร.ทิม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการโรดโชว์นักลงทุนสถาบันต่างชาติ และลูกค้าที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนและลูกค้ายังมีความกังวลกับความไม่แน่นอนในภาพรวมเศรษฐกิจไทย โดยนักลงทุนถามถึงทิศทางของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของไทย และถามว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน เรามองค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯอย่างไร เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี
“เรายังเห็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาท การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยยังมีความไม่แน่นอน ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอย่างมาก ทำให้เรามองว่า ค่าเงินบาทน่าจะเผชิญสภาวะที่ท้าทายในช่วงต่อจากนี้”
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่จากบทวิจัยล่าสุดของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดพบว่า บริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทจากยุโรป มองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจมายังภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย