บทบาทของ ธปท. ในการไกล่เกลี่ยหนี้สินภาคประชาชน
ชวนันท์ ชื่นสุข
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.
การไกล่เกลี่ยเป็นกลไกหาข้อยุติที่ทำให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ตกลงกันไม่ได้ มีทางออกที่ต่างยอมรับกันได้ ปัญหาหนี้สินก็เช่นกัน เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็ต้องทวงถาม ขณะที่ลูกหนี้ไม่มีเงิน ก็ย่อมไม่สามารถตกลงกันได้ นำไปสู่การฟ้องดำเนินคดีและการบังคับคดียึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือนในที่สุด “การไกล่เกลี่ยหนี้สิน” (Debt mediation) จึงเป็นทางออกที่มีความสำคัญมาก
ข้อมูลปี 2563 พบว่า มีคดีผู้บริโภคเข้าสู่ศาล 829,418 ข้อหา หากไม่มีการไกล่เกลี่ย ไม่เพียงจะเป็นภาระหนักในกระบวนการยุติธรรม แต่ยังทำให้กลไกทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทุกภาคส่วนจึงเห็นความจำเป็นในการผลักดันให้มีการไกล่เกลี่ย ในทุกสถานะหนี้ กล่าวคือ
1.การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง – ลูกหนี้สามารถขอเข้าไกล่เกลี่ยผ่านกลไกของศาล ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20 ตรี เพื่อส่งเสริมให้มีระบบการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่คู่กรณี โดยจะมีผู้ประนีประนอมเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ย หากคู่กรณีตกลงกันได้ ก็จะจัดทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือจะเข้าไกล่เกลี่ยผ่านกลไกของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ย และหากคู่กรณีตกลงกันได้ จะจัดทำบันทึกข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
2.การไกล่เกลี่ยในชั้นศาลเริ่มตั้งแต่ศาลรับฟ้อง ลูกหนี้สามารถขอไกล่เกลี่ยได้ทั้งก่อนวันนัดพิจารณาคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดี หากคู่กรณีตกลงกันได้ จะนำมาสู่การถอนฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
3.การไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี ประชาชนสามารถติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดได้ทั่วประเทศ หากคู่กรณีตกลงกันได้ จะจัดทำบันทึกข้อตกลง โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นโดยผลของการปฏิบัติตามคำพิพากษา
การไกล่เกลี่ยเป็นข้อตกลงที่เกิดจากความเห็นชอบร่วมกันระหว่างสองฝ่าย (mutual agreement) ซึ่งจะสำเร็จได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องให้ความร่วมมือกัน โดยลูกหนี้ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามจริง และสอบถามข้อสงสัยเพื่อหาแนวทางแก้ไขหนี้ที่เหมาะสม เนื่องจากการพักชำระหนี้อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป เมื่อเจรจาและได้ข้อสรุปแล้ว จะต้องทำความเข้าใจในข้อตกลงและผลหากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลง ขณะเดียวกันจ้าหนี้ต้องอธิบายเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
ธปท. ก็เช่นกันที่เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการไกล่เกลี่ยหนี้ของประชาชน จึงร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและศาล สร้างกลไกหรือช่องทางการไกล่เกลี่ยหนี้ขึ้น เพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มีโอกาสเจรจาปรับการผ่อนชำระที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และเจ้าหนี้ได้รับเงินคืน โดยได้ประโยชน์บนเงื่อนไขและกติกาที่ ธปท. ได้ตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แทนการให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เจรจากันเองซึ่งยากที่จะได้ข้อสรุปหรือหากตกลงกันได้ ก็ยากที่จะผ่อนชำระได้ตลอดสัญญา กล่าวคือ
1. โครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางของประเทศในการแก้ปัญหา “หนี้เสียบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่ยังไม่ถูกบังคับคดี” โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เป็นตัวกลางระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการ เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการผ่อนเฉพาะเงินต้น อัตราดอกเบี้ย 5% นาน 10 ปี
2. ทางด่วนแก้หนี้ เป็นช่องทางกลางช่วยเหลือลูกหนี้ที่เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้แล้วไม่ได้ข้อยุติ สามารถยื่นคำขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ออนไลน์ผ่านช่องทางนี้ได้ โดย ธปท. จะรวบรวมคำขอเพื่อนำส่งเจ้าหนี้ให้ติดต่อและช่วยเหลือลูกหนี้
3. มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ ให้ประชาชนลงทะเบียนผ่าน website ธปท. ศาล และกระทรวงยุติธรรม โดย ธปท. จะรวบรวมคำขอส่งให้เจ้าหนี้ที่ร่วมมหกรรม ให้ติดต่อลูกหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ด้วยมาตรฐานกลางที่ได้ตกลงร่วมกัน ได้แก่
3.1 มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ทุกสถานะ ได้แก่
- กลุ่มเริ่มฝืดเคือง (ไม่เป็นหนี้เสีย) สามารถเปลี่ยนเป็นหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลา อัตราดอกเบี้ย 12% นาน 4 ปี
- กลุ่มหนี้เสีย ตั้งแต่ก่อนฟ้องจนถึงอยู่ระหว่างฟ้อง ผ่อนเฉพาะเงินต้น อัตราดอกเบี้ย 4%-7% สูงสุด 10 ปี
- กลุ่มที่มีคำพิพากษาหรือบังคับคดียึดทรัพย์ ผ่อนเฉพาะเงินต้น สูงสุด 5 ปี
3.2 มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ทุกสถานะ ได้แก่
- กลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสียและรถยังไม่ถูกยึด ให้ลดค่างวดและขยายระยะเวลา คืนรถ หรือ การพักชำระหนี้ ตามมาตรการช่วยเหลือที่ ธปท. กำหนด
- กลุ่มที่รถถูกยึดแล้วแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด ให้ปรับโครงสร้างหนี้ และให้ลูกหนี้ขอรับรถคืนไปใช้งาน
- กลุ่มที่รถถูกขายทอดตลาดแล้วแต่ยังมีหนี้ส่วนขาด ให้ชำระด้วยยอดหนี้ที่ผ่อนปรน และเป็นธรรม
3.3 ไกล่เกลี่ยหนี้ที่ถูกโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรฯ และหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้ชำระด้วยภาระหนี้ ณ วันโอนสิทธิ มายัง บบส. โดยได้รับส่วนลดร้อยละ 50 หากชำระภายใน 3 เดือน หรือส่วนลดร้อยละ 35 หากชำระนานกว่า 3 เดือน
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการเหล่านี้สามารถช่วยไกล่เกลี่ยหนี้สินได้เกินกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ลงทะเบียนที่เข้าเงื่อนไข ทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งหัวใจของการไกล่เกลี่ยให้สำเร็จอยู่ที่การมีมาตรฐานกลางที่ยอมรับทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ และการทำระบบให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งลูกหนี้ให้ความร่วมมือให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ปัญหาหนี้ได้รับการแก้ไขในเวลาอันรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อันจะเป็นประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
สำหรับท่านที่สนใจแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินและดูแลสุขภาพจิต ขอแนะนำหนังสือ “แก้หนี้ครบ จบในเล่มเดียว” ซึ่งสามารถ download E-Book ได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/ReportAndPublication/Publications/Documents/Fix_Debt.pdf