ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ผลจากปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าและมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ กดดันราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564ปรับเพิ่ม ทั้ง “ข้าวเปลือกเจ้า- ข้าวเปลือกเหนียว- มันสำปะหลัง -น้ำตาลทรายดิบ และปาล์มน้ำมัน” ขณะเดียวกัน 6รายการสินค้าที่แนวโน้มราคาปรับลด ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ผลจากปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศคู่ค้าและมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว มันสำปะหลัง น้ำตาลทรายดิบ และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,419 - 8,465 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 0.84 เนื่องจากปัจจัยบวกจากการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,335 - 10,537 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 2.26 เนื่องจากสต็อกของผู้ประกอบการเริ่มลดลง จึงคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.98 - 2.02 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.51 - 2.54 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น ประกอบกับประเทศจีนยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่ ในประเทศประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง จึงมีการนำเข้า มันสำปะหลังจากไทยทดแทนเพื่อใช้ผลิตเอทานอล
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 17.67 - 18.19 เซนต์/ปอนด์ (12.79 - 13.17 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50 - 4.50 เนื่องจากคาดว่าประเทศจีนจะมีการนำเข้าน้ำตาลในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และจากความกังวลเรื่องน้ำค้างแข็งในประเทศบราซิลที่เกิดขึ้นในภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคปลูกอ้อยที่มากที่สุดของประเทศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ผลผลิตอ้อยของบราซิลได้รับความเสียหาย และปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.27 - 6.31 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.12 - 0.87 เนื่องจากความต้องการน้ำมันปาล์มของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาปาล์มน้ำมันยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ จากปัจจัยกดดันของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง จากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,166 - 10,288 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.91 - 2.08 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของไทยลดลง ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลให้สามารถส่งออกข้าวได้เพียงร้อยละ 30 ของปริมาณคำสั่งซื้อเท่านั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.11 - 8.17 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 - 1.00 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว (ประมาณร้อยละ 8.0 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด) ทั้งนี้ ปัญหาฝนตกในหลายพื้นที่อาจเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวผลผลิต อาจทำให้ผลผลิตออกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีการนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาผลิตอาหารสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมีราคาสูง
ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 48.00 - 49.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.04 – 2.08 โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากสต็อกยางพาราโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ยังรุนแรง มีผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึง นักลงทุนในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้า ถึงแม้ราคายางพาราในประเทศจะได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลงก็ตาม สุกร ราคาอยู่ที่ 70.55 - 71.26 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.34 – 1.33 เนื่องจากภาครัฐยกระดับมาตรการปิดสถานที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การงดรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร โรงเรียนและสถาบันศึกษาให้ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง กุ้งขาว แวนนาไม ราคาอยู่ที่ 133.69 – 135.32 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 1.70 เนื่องจากคาดว่าจะมีการใช้มาตรการ ล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศลดลง
สำหรับการส่งออกกุ้งของไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งจากการขาดแคลนแรงงานและประเทศผู้นำเข้าที่มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพกุ้งของไทย และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.90 - 95.25 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.42 เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคในประเทศลดลงจากปัจจัยด้านอาหารตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับปริมาณโคเนื้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการบริโภค