รายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์พุ่ง 7.5% หนุนกำไรโต 32.27%

05 ก.พ. 2565 | 11:42 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2565 | 18:42 น.

แบงก์รุกธุรกิจรายย่อย หนุนรายได้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุปี 64 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการโต 7.5% ประเมินส่วนต่างดอกเบี้ยขยับแตะ 2.60%

ธนาคารพาณิชย์ รายงานผลประกอบการ ปี 2564 พบว่า ทั้ง 10 แห่งรวมบมจ.แอลเอช ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ปหรือ LHFG มีกำไรสุทธิรวม 1.83 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.46 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 32.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 1.38 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่สะท้อนความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ภาระการตั้งสำรองที่ลดลง

รายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์พุ่ง 7.5% หนุนกำไรโต 32.27%

ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์เติบโตมาจากรายได้ค่าธรรมเนียม โดยพบว่า ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งไม่รวม LHFG  มีรายได้ค่าธรรมเนียมรวม 1.66 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 7.5% จากปี 2563 ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมรวม 1.54 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยรวม 5.47 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% จากปี 2563 ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยรวม 5.45 แสนล้านบาท

ธนาคารที่มีอัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมมากที่สุดคือธนาคาร เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียม 6.07 พันล้านบาท เพิ่งขึ้นถึง 40.1% จากปีก่อนที่มี 4.3. พันล้านบาท รองลงมาคือ ซีไอเอ็มบีไทย 1.59 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 26.9% ธนาคาร กรุงเทพ  2.92 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 18.2% ตามด้วยไทยพาณิชย์ 4.02 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.9% จากปี 2563 ที่มี 3.66 หมื่นล้านบาท และทิสโก้ 5.61 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% จากปีก่อน

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2565 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปีก่อน สามารถทำกำไรสุทธิเติบโตตัวเลข 2 หลักได้ มาจากการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง บวกกำไรพิเศษของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่ขายบริษัทย่อยออกไป  ซึ่งหากไม่มีกำไรพิเศษดังกล่าว จะทำให้ภาพรวมกำไรสุทธิขยายตัวเพียงหลักเดียวเท่านั้น

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิมาจาก 2 ส่วนคือ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในอัตราขยายตัวเพียง 0.4% มูลค่า 547,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับผลกระทบจากการปรับลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อยด้วย ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับลดค่อนข้างมากจาก 3.05% มาอยู่ที่ 2.81% สะท้อน NIM เติบโตชะลอลง แม้ว่าปีที่แล้วสินเชื่อจะขยายตัวดีก็ตาม

 

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิในปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีแต่ปี 2565 ภาวะตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวนตามนโยบายคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

 

ขณะที่สินเชื่อปีที่แล้ว ทั้งปีน่าจะเติบโตในอัตรา 6.0% และแนวโน้มปีนี้น่าจะเติบโตได้ 4.8% จากกรอบ 4.0-5.5% โดยมีมองมุมเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์หันทำธุรกิจรายย่อย เพื่อสนับสนุนรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งปีนี้ NIM มีแนวโน้มจะขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.60% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 2.54% โดยปัจจัยบวกมาจากบรรยากาศเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น

 

ด้านปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทยอยลดลง ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารตัดขายหนี้เสียออกมา แต่โดยธรรมชาติปัญหาเอ็นพีแอลปรับลดลงช่วงปลายปี อาจเป็นปัจจัยฤดูกาลและธนาคารบริหารเชิงรุก เพื่อเดินหน้าทำธุรกิจที่ธนาคารจะดำเนินการได้ โดยธนาคารยังได้อานิสงส์จากมาตรการกันสำรองถึงสิ้นปี 65

 

“ปีนี้น่าจะเป็นปีที่แบงก์เดินหน้าปรับโครงสร้างช่วยลูกหนี้ต่อเนื่อง โดยยังคงได้อานิสงก์จากมาตรการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญถึงสิ้นปีนี้ อีกทั้งยังมีโมเดลใหม่คือ มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งเสริมการร่วมลงทุนในกิจการร่วมลงทุนหรือ JV AMC ที่จะเอื้อให้แบงก์พยายามดึงเอ็นพีแอลออกจากพอร์ตสินเชื่อ ทำให้ระดับเอ็นพีแอลไม่แตะ 3.3% ตามที่คาดไว้ และแนวโน้มศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะทบทวนตัวเลขเดิมที่มองไว้”นางสาวกาญจนากล่าว

 

ศูนย์วิจัยธนาคาร กรุงศรีประเมินว่า แม้มาตรการ JV AMC จะเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ทางการเล็งเห็นความจำเป็นของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบสถาบันการเงินให้มีการจัดตั้งกิจการร่วมทุน เพื่อรองรับเอ็นพีแอลที่อาจทยอยเพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ล่าสุด ณ ไตรมาส 3/2564 สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ที่ 3.14% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.12% ในไตรมาส 4/2563

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565