นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้เตรียมความพร้อมในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างค่ายรถยนต์ที่ต้องใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการจูงใจทางภาษีและเงินอุดหนุนรถยนต์อีวี ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปในช่วง 4 ปีนี้ โดยจะมีการระบุเงื่อนไขชัดเจนทั้งผลประโยชน์ที่จะได้รับ และบทลงโทษหรือค่าปรับ หากไม่ดำเนินการตามข้อตกลง
ค่ายรถยนต์หรือผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมมาตรการ จะต้องมีการเข้ามาตั้งโรงงานผลิต หรือ เปลี่ยนสายการผลิตเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในช่วงปีที่ 3 โดยจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นในไทยให้ได้เท่ากับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศในช่วงปีแรก และปีที่ 4 จะต้องผลิตให้ได้เท่ากับจำนวน 1.5 เท่าของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายได้ในปี 2
“หากมาตรการดังกล่าวมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กรมสรรพสามิตก็พร้อมจะลงนามข้อตกลงกับภาคเอกชนหรือค่ายรถยนต์ทันที คาดว่าอย่าช้าในช่วงเดือนมีนาคมนี้ และหลังจากนั้นค่ายรถก็สามารถเริ่มทำโปรโมชั่นได้ทันที โดยเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมทำ MOU หลายค่าย เพราะถือเป็นโอกาสทางธุรกิจในช่วงทดลองตลาด โดยจะไม่มีการจำกัดจำนวนรถยนต์ที่จะนำเข้ามาขาย”
ขณะที่ในส่วนของมาตรการเงินอุดหนุน ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่ 70,000 – 150,000 บาท และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มที่ 18,000 บาทต่อคันนั้น จะเป็นในลักษณะการให้เงินอุดหนุนโดยตรงไปยังผู้ประกอบการ และให้ผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ได้มีการปรับลดลงตามอัตราที่รัฐบาลได้อุดหนุน เช่น รถยนต์นำเข้ามาและจำหน่ายในราคา 1 ล้านบาท ก็จะปรับราคาขายลง 150,000 บาท เหลือ 850,000 บาท เป็นต้น
“เงินอุดหนุนการซื้อรถ EV จะต่างจาก รถคันแรก ซึ่งครั้งนั้นผู้ซื้อจะมีภาระเรื่องของการยื่นเอกสารเพื่อรับเงินคืนจากรัฐบาล แต่ครั้งนี้ผู้ซื้อจะไม่ต้องวุ่นวายเรื่องเอกสาร เพราะส่วนลดจะให้ตรงไปยังผู้ขาย ซึ่งผู้ขายก็จะแสดงราคาให้เห็น ระหว่างราคาเต็ม และราคาส่วนลดที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล หลังจากนั้นทุกไตรมาสผู้ขายก็จะรวมยอดขายรถและหลักฐานการนำเข้าและจำหน่าย มายื่นของรับเงินอุดหนุนคืนจากรัฐบาล จะเป็นในลักษณะขายไปก่อนและมารับเงินชดเชยทีหลัง” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของรายได้จากมาตรการภาษีสนับสนุนการใช้รถยนต์อีวีนั้น ไม่เคยถูกนับในส่วนของรายได้กรมฯ อยู่แล้วจึงไม่กระทบกับรายได้ในภาพรวมของกรมฯ ขณะที่วงเงินรวมเพื่ออุดหนุน และจูงใจให้หันมาใช้รถยนต์อีวีในช่วง 4 ปี วงเงินรวมประมาณ 43,000 ล้านบาท
โดยได้ตั้งไว้ในปีแรก ที่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีความต้องการมากกว่านี้ก็สามารถพิจารณาขยายกรอบวงเงินได้ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ประเมินเบื้องต้น หากมีการใช้มากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
ขณะที่วงเงินที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้จัดหาแหล่งงบประมาณ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 ต้องมีการผลิตรถยนต์อีวี 30% ของกำลังการผลิตรถน้ำมัน