ไทยห้ามใช้ "คริปโต" ชำระสินค้า เเล้วมีประเทศไหนหนุน-ค้านสินทรัพย์ดิจิทัล ?

24 มี.ค. 2565 | 04:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 11:38 น.

หลัง ก.ล.ต.ออกเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามใช้ชำระสินค้าและบริการ วันนี้จะพามาดูว่าตอนนี้มีประเทศไหนบ้างในโลกมีมุมมองเเละให้การสนับสนุนหรือคัดค้านอย่างไรบ้าง

หลัง ก.ล.ต.ออกเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล  ห้ามใช้ชำระสินค้าและบริการ เริ่ม 1 เม.ย.นี้ ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการหารือร่วมกัน  

โดยให้เหตุผลว่า สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี่ อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

ก.ล.ต.ยกผลกระทบระบบการเงิน เหตุคุมเข้มสินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามชำระค่าสินค้า

ก.ล.ต. จึงอำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน

ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์จากคนในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยว่า อาจทำให้ระบบนิเวศไทยไม่เอื้อต่อการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ย้ำ ว่าทำไม Cryptocurrency ยังไม่เหมาะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ?

 

เพราะ สิ่งที่เป็นแก่นของ ธนาคารกลาง และจะไม่เปลี่ยน คือ การมีภาครัฐเป็นผู้รักษามูลค่าของเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาระบบนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่า มั่นคงและตอบโจทย์ มีประสิทธิภาพสูง เทียบกับ Cryptocurrency ที่แม้เป็นนวัตกรรม แต่จัดเป็น #กระแส ที่ไม่ตอบโจทย์การเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

ไทยห้ามใช้ \"คริปโต\" ชำระสินค้า เเล้วมีประเทศไหนหนุน-ค้านสินทรัพย์ดิจิทัล ?

วันนี้จะพามาดูว่าปัจจุบันบางประเทศเปิดกว้างในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างเต็มที่  

 

เอลซัลวาดอร์ ยอมรับ Bitcoin เป็นสื่อกลางที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อกันยายน 2564  

 

สหภาพยุโรป เสนอ Marets in Crypto-Asset regulation (MiCA) เพื่อกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซี่ โยเฉพาะอย่างยิ่ง Stablecoin รวมถึงการประกอบธุรกิจของผู้ใช้บริการเพื่อออกใช้ในปี 2567  

ล่าสุดมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป มีการลงมติด้วยคะแนน 31 ต่อ 4 ในการร่างกฎหมายกำกับดูแลตลาดคริปโต (Market in Crypto Assets: MiCA) ในขณะเดียวกันมีผู้ไม่ออกเสียง 23 ราย ซึ่งร่างดังกล่าวครอบคลุมประเด็นด้านการเทรดคริปโต เพื่อให้ง่ายต่อบริษัทด้านคริปโต ในการขยายกิจการไปในกลุ่มประเทศในยุโรปทั้ง 27 ประเทศ โดยผ่านใบอนุญาตกิจการภายในสหภาพยุโรป

 

สิงคโปร์ กำกับเหรียญที่เข้าข่าย e-money ด้วยกฎหมายด้านระบบการชำระเงิน / ห้ามโฆษณาซื้อขายคริปโตฯ ในพื้นที่สาธารณะและห้ามจ้างอินฟลูเอ็นเซอร์เพื่อโฆษณา เมื่อ เมษายน 2565  

โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้กำหนดแนวทางห้ามไม่ให้ทำการตลาด หรือโฆษณาส่งเสริมการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ในพื้นที่สาธารณะ เช่น บนป้ายโฆษณา, ขนส่งมวลชน, สื่อกระจายเสียงและสิงพิมพ์, แพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงห้ามไม่ให้จ้างอินฟลูเอนเซอร์ในการโปรโมต

 

มาเลเซีย มองว่าคริปโตฯ ไม่มีคุณสมบัติที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระสินค้าและบริการ เมื่อธันวาคม 2563  ล่าสุด Yamani Hafez Musa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่เครื่องมือการชำระเงินที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางของมาเลเซีย ดังนั้นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่อย่างเช่น Bitcoin กับเหรียญ  Ethereum จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้ในการชำระเงินหรือเก็บสะสม อีกทั้งช่วงเวลานี้สินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ได้มีการรับรองให้ถูกกฎหมายในประเทศมาเลเซียอีกด้วย

 

อินเดีย อยู่ระหว่างเสนอกฎหมายเพื่อห้ามการใช้คริปโตในการชำระสินค้าและบริการ เมื่อธันวาคม 2564  ซึ่งจากการรายงานของ cointelegraph ระบุถึงกฏข้อบังคับกฏหมายคริปโตของประเทศอินเดียซึ่งจะมีบทกำหนดโทษสูงสุดสำหรับการละเมิดข้อบังคับการถือครอง crypto ด้วยการปรับเป็นเงินกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 90 ล้านบาท หรือจำคุก 1.5 ปี

 

จีน คริปโตเคอร์เรนซี่ และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อกันยายน 2564  นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถตรวจสอบการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนในประเทศด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตนั่นเอง

 

สหรัฐอเมริกา เสนอกฎหมายเพื่อจำกัดการออก Stable coin ให้มาจากสถาบันรัลฝากเงินเท่านั้น / key entitle อื่น ช่น wallet provider ที่ช่วยให้เกิดการใช้ Stable coin เป็นสื่อกลางชำระสินค้าหรือบริการ ต้องอยู่ภายใต้การกกำกับดูแลของภาครัฐ

 

สหราชอาณาจักร อยู่ระหว่างการรับฟัง ความเห็นเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในเรื่องคริปโตฯ และ Stable coin เมื่อปี 2564

 

ฮ่องกง อยู่ระหว่างพืจารณานโยบายและติดตามท่าทีของต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ โดยเสนอจะกำกับ Stable coin ที่ใช้เพื่อการชำระเงิน

 

อินโดนีเซีย ห้ามใช้คริปโตฯ ในการชำระเงิน ปี 2561 / สภาพศาสนาอิสลาม ห้ามใช้คริปโตเป็นสกุลเงิน ปี 2564

มุมมองเเต่ละประเทศที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มา : ธนาคารเเห่งประเทศไทย