นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ครีเอทีฟ ดิจิทัล ลีฟวิ่ง จํากัด สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโลกเสมือนเพื่อการศึกษา “ANIVERSE METAVERSE” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแนวโน้มการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มกิจกรรมรูปแบบต่างๆ แล้วรับเหรียญคริปโต (X to Earn) ทั้ง เล่นเกมแล้วได้คริปโต (Play to Earn), Learn to Earn เรียนแล้วได้คริปโต หรือ ออกกำลังกายแล้วได้คริปโต (Exercise to Earn) มีมากขึ้น
โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้สร้างคอมมิวนิตี้ขึ้นมาแล้วจัดกิจกรรมให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับเหรียญโทเคน ซึ่งเมื่อมีคนเป็นจำนวนมากเข้ามา สิ่งที่ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มจะได้รับคือข้อมูล หรือดาต้า เพื่อไปพัฒนาคอมมิวนิตี้ และดึงภาคธุรกิจเข้ามาในคอมมิวนิตี้
สำหรับแพลตฟอร์ม ANIVERSE METAVERSE (แอนิเวิร์ส เมตาเวิร์ส) เป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) มาผสมผสานภายใต้แนวคิด “Learn-to-Earn” เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศไทย และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่าปีที่ผ่านมามีเด็กนักเรียน ขาดโอกาสทางการศึกษา 65,000 คน หรือ 10% ของจำนวนเด็กนักเรียน
โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนาและสร้างโอกาสของระบบการศึกษา สู่การเรียนรู้ในโลกเสมือนจริงควบคู่ไปกับการสร้างรายได้แบบคู่ขนานเป็นแห่งแรกของโลก โดยมีสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ชื่อ “ANIV” พร้อมประมวลผลข้อมูลของนักเรียนแต่ละคนเพื่อช่วยในการค้นหาตัวตนและสิ่งที่ชอบ จับคู่นักเรียนให้เข้ากับโอกาสสร้างอาชีพในอนาคต
นายพิชเยนทร์ กล่าววว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้เม็ดเงินลงทุนระยะแรก 10 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการระดมทุนจากนักลงทุนเพิ่มเป็น 50 ล้านบาท โดยบริษัทจะเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 เบื้องต้นจะนำร่องการพัฒนาหลักสูตรนิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจของ มหาวิทยาลัยเอแบคให้ประสบความสำเร็จ ก่อนขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่น
ด้านนายสุภชีพ พรวัฒนากูร ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม WIRTUAL กล่าวว่าการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับเหรียญคริปโต กำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่ง WIRTUAL เป็น สตาร์ตอัพไทยรายแรกที่พัฒนาแอพ WIRTUAL แพลตฟอร์มออกกำลังกายที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ Exercise to Earn ที่ให้คนได้ Sweat Mining เปลี่ยนหยาดเหงื่อจากการวิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้น และการออกกำลังกาย ให้เป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ภายใต้ชื่อ “WIRTUAL Coins”
โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมแอพ เข้าอุปกรณ์ Smart Watch ที่เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชัน Strava, Garmin Connect หรือ Fitbit และส่งผลการออกกำลังกาย พร้อมรับ WIRTUAL Coins ในวันถัดไปออกกำลังกายและรับเหรียญคริปโต ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกในระบบแล้ว 52,000 ราย เป็นกลุ่มพาวเวอร์ยูสเซอร์ 8-10% ซึ่งภายในครึ่งปีแรกของปีนี้จะมีสมาชิก 1 ล้านราย โดยเป็นกลุ่มผู้ออกกำลังกายประจำ 30,000 ราย และออกกำลังกายอย่างน้อยเดือนละครั้งหลักแสนราย
โดยภายหลังจากนี้จะมีการร่วมกับพาร์ทเนอร์จัด Challenge การแข่งขันกีฬา ทั้งการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้น โดยทั้งปีจะอยู่ราว 300 กิจกรรม นอกจากนี้ยังมีตัวละคร Avatar ที่ให้ผู้ใช้ออกแบบด้วยตัวเอง และยังมีไอเทม NFTs รวมถึงสินค้า NFTs บนแอพพลิเคชัน WIRTUAL ยังสามารถนำไปวางขายบน Marketplace ได้อีกด้วย
“เราต้องการเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกตั้งแต่วันแรก โดยขณะนี้ทั่วโลกมีแพลตฟอร์ม Exercise to Earn อยู่ประมาณ 3 รายคือ ของอเมริกา และเวียดนาม อีกรายคือเรา ทำให้มีโอกาสเป็นอย่างมากในการขยายบริการไปยังตลาดโลก“
นายสุภชีพ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้จากการประเมินมูลค่าแพลตฟอร์ม WIRTUAL ล่าสุดจากนักลงทุนสถาบัน มีมูลค่าราว 120 ล้านบาท คาดว่าภายในต้นปีหน้าจะระดมทุนรอบซีรีส์บี ราว 10-100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 320-3,200 ล้านบาท เพื่อขยายบริการออกสู่ตลาดโลก รวมถึงต่อยอดออกไปสู่แอพบริการทางด้านสุขภาพ