สร้างความได้เปรียบในการลงทุน ด้วย Robot Trade

25 เม.ย. 2565 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2565 | 15:26 น.

สร้างความได้เปรียบในการลงทุน ด้วย Robot Trade : คอลัมน์ Investing Tactic โดย นายสาวิทย์ สมปอง (โค้ชวิทย์) วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

ถ้าเราเปรียบการลงทุน คือ การทำธุรกิจอย่างหนึ่ง สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในการทำธุรกิจก็คือ ความได้เปรียบที่มีเหนือคู่แข่งในภาคธุรกิจเดียวกัน

 

  • ไหนใครอยากทำธุรกิจร้านกาแฟยกมือขึ้น?

ขอยกตัวอย่างธุรกิจยอดนิยมในยุคนี้ขึ้นมาเปรียบเทียบนั่นก็คือ ธุรกิจร้านกาแฟ เป็นธุรกิจที่ใครหลายคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง นึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด หรือเพราะเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นได้ง่าย เนื่องจากสินค้ามีความต้องการในตลาดอยู่แล้ว เพียงแค่มีเงินลงทุนก็สามารถมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองได้ 

ไม่ต่างจากการเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพียงแค่ เรามีเงินทุน เริ่มจากติดต่อไปที่โบรกเกอร์ตัวแทน ก็สามารถเปิด port เพื่อทำการซื้อขายหุ้นได้แล้ว แต่การที่เราจะอยู่รอดในตลาด ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจร้านกาแฟ หรือการลงทุนนั้น ต้องมีปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จซึ่งสามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้

สร้างความได้เปรียบในการลงทุน ด้วย Robot Trade

ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน หลายธุรกิจต้องปิดกิจการไป เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป( Digital Disruption ) ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจประเภทใด ธุรกิจบันเทิง, การศึกษา, การเงิน ไม่เว้นแม้แต่ ธุรกิจร้านกาแฟ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จสำหรับธุรกิจร้านกาแฟในยุคนี้ ไม่เพียงแต่รสชาติของกาแฟดี ทำเลที่ตั้งเหมาะสม การตกแต่งร้านสวยงาม และบริการอันแสนประทับใจแล้ว ยังต้องเพิ่มเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปด้วย

ยกตัวอย่างตอนนี้ ร้านกาแฟที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่และการค้าปลีกแห่งหนึ่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการนำหุ่นยนต์ชงกาแฟ ( Robot Barista ) มาให้บริการลูกค้า ดูแปลกใหม่ น่าสนใจ แถมยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความคงที่ของรสชาติได้ดีระดับหนึ่งถือเป็นการปิดจุดด้อยและสร้างความได้เปรียบโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาแก้ไขได้อย่างดี

 

อีกหนึ่งธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกันและใช้นวัตกรรมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันนั่นคือธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ( Vending machine ) โดยปกติแล้วสินค้าที่นิยมนำมาจำหน่ายจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็น อาหารว่าง, เครื่องดื่ม, หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยที่เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพียงแค่ลูกค้าใส่เงินหรือบัตรเข้าสู่เครื่อง ก็จะได้สินค้าที่ต้องการ

 

ปัจจุบันเครื่องจำหน่ายสินค้าได้ถูกออกแบบมาให้สามารถตรวจสอบสต็อก, วิเคราะห์การขายและแจ้งเตือนไปยังคลังสินค้าได้ มีการเพิ่มช่องทางในการชำระค่าสินค้าได้หลายช่องทาง จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ากาแฟสดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ด้วยเหตุนี้เองบริษัทผู้ผลิตเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติรายหนึ่งได้ศึกษาความเป็นไปได้พบว่า ถ้าบริษัทสามารถสร้างเครื่องชงกาแฟสดอัตโนมัติได้ จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันตลาดเครื่องดื่มชงสดได้ ไม่เพียงแต่กาแฟเท่านั้น ยังรวมไปถึงเครื่องดื่มชนิดอื่นๆด้วย นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของการมองหาความเป็นไปได้และสร้างความได้เปรียบจากความแตกต่าง ก่อนที่จะกระโจนเข้าสู่ธุรกิจนั้นอย่างเต็มตัว

 

  • กลับเข้ามาที่เรื่องการลงทุน 

ก่อนที่เราจะสร้างความได้เปรียบในการลงทุนด้วย Robot Trade นั้น เราต้องทราบก่อนว่า ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จในการลงทุนคืออะไร เราถึงจะสามารถนำปัจจัยเหล่านั้นมาสร้างความได้เปรียบในการลงทุนของเราได้ ผลลัพธ์จากความได้เปรียบในการลงทุนคือ ความสามารถในการทำกำไรที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด โดยใช้เวลาน้อยกว่า และมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ 

 

ยกตัวอย่างองค์ประกอบของความได้เปรียบนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งอาจใช้หลายองค์ประกอบ หรือใช้แค่เพียงองค์ประกอบเดียวก็สร้างความได้เปรียบแล้ว เช่น นักลงทุนบางคนมีความสามารถในการอ่านงบการเงินเพียงอย่างเดียวก็มีความได้เปรียบนักลงทุนอื่นๆที่อ่านงบการเงินไม่เป็น ความสามารถในการวิเคราะห์ธุรกิจ ความสามารถในการอ่านกราฟเทคนิค ความสามารถในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค หรือจะเป็นเรื่องการตัดสินใจในการซื้อขายที่รวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นความสามารถที่ใช้สร้างความได้เปรียบในการลงทุน

 

  • แล้ว Robot Trade จะมาช่วยสร้างความได้เปรียบในการลงทุนได้อย่างไร 

การลงทุนในหุ้นหรือสินค้าทางการเงินนั้น กระบวนการที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจในการซื้อขาย ว่าด้วยกระบวนการในการตัดสินใจซื้อ ( the Consumer Decision-Making Process) ของ John Dewey ที่ถูกคิดขึ้นในปี 1910 นั้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนคือ  

สร้างความได้เปรียบในการลงทุน ด้วย Robot Trade

 

  • 1.รับรู้ปัญหา หรือความต้องการ (Problem recognition): สำหรับการลงทุนนั้น ความต้องการหลักคือการได้ผลตอบแทนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ แต่ปัญหาที่พบคือการเลือกหุ้นผิด โดยหุ้นที่เราถือได้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด มิหนำซ้ำหุ้นบางตัวที่ลงทุนยังขาดทุนอีกด้วย ทำให้เราต้องการที่จะเลือกซื้อหุ้นหรือสินค้าทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ หากเราทราบความต้องการที่ชัดเจนก็จะทำให้สามารถนำมาตั้งเป็นเงื่อนไขที่เราพอใจได้
     
  • 2. ค้นหาข้อมูล (Information search): จากการถูกกระตุ้นของราคาหุ้นที่สูงขึ้นอาจจะทำให้เราเข้าซื้อในทันทีถ้าราคาหุ้นตัวนั้นขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นนักลงทุนทั่วไปจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ กระบวนการค้นหาข้อมูลยังไม่ทันเริ่มต้นก็ตัดสินใจซื้อขายแล้ว ต่างจากการใช้ กระบวนการนี้แหละที่สามารถใช้ Robot Trade โดยจะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เข้าตามเงื่อนไขที่เราต้องการ เช่น หุ้นที่บวกมากกว่า 6% ในวันนี้มีหุ้นใดบ้าง
     
  • 3. การประเมินทางเลือก (Alternatives evaluation): เมื่อได้หุ้นมาจำนวนหนึ่งแล้วจะต้องนำมาเปรียบเทียบเพื่อให้ได้หุ้นที่ดีที่สุด เช่น หุ้นนี้เป็นหุ้นที่อยู่อุตสาหกรรมไหน เป็นอุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนสนใจหรือไม่ การถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (%Free float) เท่าไหร่ มีค่าอัตราส่วนทางการเงินเท่าไหร่ ซื้อไปจะติด Cash Balance ไหม จากขั้นตอนที่สองกับขั้นตอนที่สาม ถ้าเป็นนักลงทุนปกติคงใช้เวลาพอสมควรในการเปรียบเทียบ แต่ Robot Trade ทำกระบวนการทั้งหมดนี้ได้ในหน่วยวินาที
     
  • 4. การตัดสินใจซื้อ (Purchase decision): เมื่อประเมินทางเลือกได้แล้ว และตั้งใจว่าจะซื้อแล้วแต่ก็อาจจะมีปัจจัยภายนอกมากระทบทำให้การตัดสินใจล่าช้า ไม่ยอมตัดสินใจ ตัดสินใจพลาดหรือเกิดความผิดพลาดอื่นๆ เช่น ในสภาวะตลาดที่เป็นขาลงทำให้ไม่กล้าซื้อ ไม่ได้คำนวณปริมาณหุ้นไว้ก่อน ทำให้ซื้อที่ราคาที่ต้องการไม่ทัน ส่งคำสั่งผิดจากซื้อเป็นขาย จากขายเป็นซื้อ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการใช้ Robot Trade ในการส่งคำสั่งจะมีประสิทธิภาพกว่าเพราะไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องและมีความถูกต้องแม่นยำกว่า
     
  • 5. พฤติกรรมหลังการซื้อ (post-purchased evaluation): เมื่อการซื้อขายเสร็จสิ้นลง นักลงทุนควรที่จะเก็บบันทึกข้อมูลไว้ เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจในการเทรด ซึ่งนักลงทุนทั่วไปอาจจะไม่มีการจดบันทึก หรือหากบันทึกก็ไม่ได้ทำอย่างสม่ำเสมอทำให้ความสามารถในการพัฒนาการเทรดเป็นไปได้ช้า ซึ่ง Robot Trade นั้นจะมีการบันทึกลงในระบบให้โดยอัตโนมัติ

 

จะเห็นได้ว่ากว่าที่เราจะตัดสินใจซื้อมีถึง 3 ขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนที่  1 – 5 เราสามารถใช้ Robot Trade เข้ามาช่วยในการลดระยะเวลากระบวนการเหล่านี้ลง ตั้งแต่การทำงานตามเงื่อนไขที่กำหนด รวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินทางเลือกที่ตรงตามเงื่อนไขตลอดจนส่งคำสั่งซื้อขาย และบันทึกผลการลงทุนเพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการซื้อขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
 

การสร้างความได้เปรียบในการลงทุนด้วย Robot Trade นั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้ระบบเทรดที่เป็นระบบอัตโนมัติทั้งระบบก็ได้ เพียงแต่เราใช้บางระบบที่ช่วยปิดจุดอ่อนของเรา เช่น เราอาจจะเป็นนักลงทุนที่วิเคราะห์กราฟเทคนิคแม่น แต่เราไม่มีเวลาเฝ้าหน้าจอเราก็แค่ใช้ Robot Trade ในส่วนของการส่งคำสั่งซื้อขายเพียงอย่างเดียวก็ได้  

 

ปัจจุบันการลุงทุนด้วย Robot Trade สามารถเลือกใช้บริการ จากผู้พัฒนาที่มี Robot Trade ไว้ให้บริการ หรือคุณอาจจะพัฒนาขึ้นมาเองได้หากมีความรู้ความสามารถ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยได้เข้าถึงการใช้ Robot Trade ผ่านช่องทาง Settrade Open API สามารถนำแนวคิดในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Trading Algorithm) ของตนเองมาประยุกต์ใช้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ทั้งในส่วนของหุ้น (Equity) และอนุพันธ์ (Derivatives) ส่วนแนวทางการพัฒนาหรือการเลือกใช้ Robot Trade ผู้อ่านสามารถติดตามคอลัมน์ investing tactic ที่ลงไว้ก่อนหน้านี้ใน website ของฐานเศรษฐกิจได้  

 

ในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การสร้างความได้เปรียบถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการลงทุนด้วยเช่นกัน นักลงทุนต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะตอนนี้เป็นยุคของ "ปลาเร็วกินปลาช้า" ถ้าเราไม่รีบขยับหรือขยับช้าเราก็จะถูกกิน