ธ.ก.ส. ตั้งสำรองแกร่งกว่า 4 แสนล้าน รับแรงกระแทก NPL

26 เม.ย. 2565 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2565 | 14:46 น.

ธ.ก.ส. เผย ปีบัญชี 64 ปล่อยกู้พุ่งกว่า 6.6 แสนล้าน พร้อมตั้งเป้าปีบัญชี 65 ปล่อยสินเชื่อโตไม่ต่ำกว่า 3% - 4% พร้อมกด NPL ให้ลดลงเหลือ 4.5% ขณะเดียวกันตั้งสำรองสูงกว่า 4 แสนล้าน รองรับแรงกระทบจากหนี้เสียในอนาคต

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.  เปิดเผยผลดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ปีบัญชี 2564 (1 เมษายน 2564 ถึง 31 มีนาคม 2565) มีการปล่อยสินเชื่อในภาคชนบทในระหว่างปี จำนวน 667,971 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสม 1,606,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 2.26% ขณะที่ยอดเงินฝากสะสม 1,901,801 บาท เพิ่มจากต้นปีบัญชีจำนวน 120,329 ล้านบาท หรือ 6.75% สูงกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท

“ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากระยะสั้น ในโครงการช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร ที่ได้โอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง แต่ยังไม่มีการถอนออกไปใช้ รวมทั้งจากการที่ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดการคุ้มครองเงินฝาก เหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชี ทำให้เงินฝากส่วนหนึ่งย้ายมาฝากกับ ธ.ก.ส. เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีการคุ้มครองเงินฝาก”  นายธนารัตน์ กล่าว

 

ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.

นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส ตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 65 เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 – 5  หมื่นล้านบาท หรือ โต 3% - 4% จากปีบัญชี 64 โดยจะมีการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร ได้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และเพื่อให้เป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อมีความสอดคล้องกับสถาบันการเงินของรัฐอื่นๆ

 

ขณะเดียวกันในปีบัญชี 65 ธ.ก.ส. ตั้งเป้าหนี้เสีย หรือ NPL อยู่ที่ 4.5% ลดลงจากปีบัญชี 64 ที่ระดับ 6.3% โดยจะเน้นการฟื้นฟูลูกค้า และแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ขณะที่การสำรองของ ธ.ก.ส.ยังมีความแข็งแกร่ง โดยมีการตั้งสำรองอยู่ประมาณ 380% - 390% หรือ ประมาณ 4 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ภายในไตรมาสแรกของปีบัญชีนี้ ธ.ก.ส. จะเข้าไปตรวจสุขภาพทางการเงินของลูกค้าและจัดชั้นลูกค้าตามกลุ่ม เขียว เหลือง และแดง ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ให้เป็นศูนย์

 

พร้อมกันนี้ จะเข้าไปดูแล เรื่องการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ด้วยการเข้าไปตรวจสอบรายจ่ายของลูกหนี้ และคัดแยกภาระการเป็นหนี้ครัวเรือน จากนั้นจะช่วยหน้าอาชีพเสริม ให้ลูกหนี้กลับมามีรายได้เลี้ยงชีพ และมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้

 

นอกจากนี้ในปีบัญชี 64 มีสินทรัพย์ จำนวน 2,236,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.73%  มีหนี้สินรวม 2,086,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และส่วนของเจ้าของ 149,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.17%  โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 98,610 ล้านบาท ลดลง 3.87% ค่าใช้จ่ายรวม 91,031 ล้านบาท ลดลง 3.78% และมีกำไรสุทธิ จำนวน 7,579 ล้านบาท ลดลง 4.87%

 

ด้านอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ร้อยละ 0.35 อัตราตอบแทนต่อส่วน ผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ร้อยละ 5.22 ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 6.63  โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.43 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด