“เดโก” มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เจ้าแรก เข้าร่วมมาตรการหนุนใช้ EV ในไทย

03 พ.ค. 2565 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2565 | 15:21 น.

สรรพสามิต ลงนาม “เดโก” เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนใช้รถไฟฟ้าในไทย ส่งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 8 รุ่น ให้ส่วนลด 18,000 บาท พร้อมเร่งดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีสรรพสามิตอีวี จาก 8% เหลือ 2% เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่ม

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯได้ลงนามข้อตกลงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับบริษัท เดโก กรีน เอนเนอร์จี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจประกอบ ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งภายในประเทศและส่งออก ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารายแรกที่เข้าร่วมมาตรการ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงนามกับค่ายรถไปแล้ว 3 ราย

 

“เดโก” มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเจ้าแรก เข้าร่วมมาตรการหนุนใช้ EV ในไทย

ทั้งนี้ บริษัทเดโก เป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ ที่ใช้เทคโนโลยีจากไต้หวัน ซึ่งได้แจ้งความประสงค์ผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศและขอรับสิทธิจำนวน 8 รุ่น ได้แก่ ฮันนาห์, โซเฟีย, ลูเซียโน่, ซูซู,  ซูเปอเรซ,  ดับเบิลเอซ, จี-ไฟว์ และไททัน พร้อมทั้ง ได้วางแผนที่จะผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในปี 65 จำนวน 32,000 คัน ปี 66 จำนวน 38,400 คัน ปี 67 จำนวน 46,400 คัน ปี 68 จำนวน 56,000 คัน และในอนาคตมีแผนจะผลิตให้ได้ถึง 2 แสนคัน 

 

“ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างนำรถจักรยานยนต์ต้นแบบมาให้กรมตรวจสอบ หากผ่านการตรวจสอบก็พร้อมจะเปิดขายทันที โดยจะมีการให้ส่วนลดทันทีคันละ 18,000 บาท จากราคาเฉลี่ยที่ขายกันคันละ 50,000-100,000 บาท” นายลวรณ กล่าว

ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต

นายลวรณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมกำลังเร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จาก 8% เหลือ 2% ออกมา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ และหลังจากนี้จะมีค่ายรถยนต์ทยอยลงนามร่วมต่อเนื่อง

 

โดยปีนี้น่าจะมีรถยนต์เข้ามาใช้สิทธิมาตรการอีวีไม่ต่ำกว่า 20,000 คัน ภายใต้เงินสนับสนุน 3,000 ล้านบาท  ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ตั้งเป้าหมายจะใช้เงินสนับสนุนตลอดโครงการที่ 40,000 ล้านบาท มีรถเข้าร่วม 4 แสนคน

 

แหล่งข่าวแจ้งเพิ่มว่า ในเร็วๆ นี้กรมสรรพสามิตจะมีการลงนามความร่วมมือมาตรการรถอีวีเพิ่มเติมกับอีก 2 ค่าย คือรถจักรยานยนต์ฮอนด้า และรถจักรยานยนต์เอดิสัน ส่วนค่ายรถยนต์ที่จะตามมาในระยะต่อไปคือ ฮอนด้า และฟ็อกซ์คอนน์

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้สิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตอัตราภาษี 1% และเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับการนำเข้ารถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ในปี 65-66 และผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 65 – 68

 

โดยรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ต้องเป็นแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน มีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีระยะทางที่วิ่งได้ตั้งแต่ 75 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง 

 

ต้องใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 หรือที่สูงกว่า  และต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 2952-2561