นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 65 ไทยเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูง เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ทำให้เงินเฟ้อไทยโดยปกติจะอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ แต่ปัจจุบันตัวเลขพุ่งไปกว่า 5% ซึ่งรัฐบาลได้ปรับมาตรการลดผลกระทบเป็นแบบพุ่งเป้ามากขึ้น เพื่อลดภาระค่าครองชีพเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ขับขี่รถจักยานยนต์สาธารณะ การช่วยลดภาระค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้ประเมินว่าสถานการณ์จะยังเป็นเช่นนี้ ทำให้ไม่สามารถพยุงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรได้ จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ราคาพลังงานเป็นไปตามสถานการณ์
โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยสนับสนุนคนละครึ่ง คือ หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเกิน 30 บาท เช่น 31 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ จะเข้าไปสนับสนุนส่วนเกิน 1 บาท ในอัตรา 50 สตางค์ และอีก 50 สตางค์ ประชาชนจะเป็นผู้รับภาระเอง ขณะที่ นโยบายทางด้านภาษีก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยให้ราคาน้ำมันต่ำกว่าเพดาน
“กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง ดังนั้น การดำเนินมาตรการต่างๆ จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อการคลังในอนาคต” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจ จะไม่ฟื้นตัวย่างรวดเร็ว แต่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดี แต่เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งตัวเลขล่าสุด ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยแล้ว 7 แสนคน และคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย 2 ล้านคน ซึ่งยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยปีละกว่า 40 ล้านคน
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 66 หลังจากหลายประเทศเริ่มปลดล็อกจำกัดการเดินทาง ขณะที่ไทยก็ได้มีมาตรการเปิดประเทศ รวมทั้งด่านชายแดน จากเดิมที่อนุญาตให้เพียงรถขนส่งสินค้าผ่านเข้าออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งสินค้า ซึ่งหลังเปิดด่านชายแดน ก็จะส่งผลดีให้มีการเดินทางข้ามมาไทยเพื่อจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้นทำให้เศรษฐกิจชายแดนฟื้นตัวได้
และยังส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งล่าสุด ครม. ได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการยกเว้นภาษีนิติบุคคล และ VAT สำหรับธุรกิจที่เข้ามาระดมทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT buy-back เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีเม็ดเงินเสริมสภาพคล่องในการปรับปรุงธุรกิจให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง