นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – เมษายน 2565) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,276,872 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 45,804 ล้านบาท หรือ 3.7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5% หรือ 55,250 ล้านบาท
เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร สูงกว่าประมาณการ ทั้งจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนรายได้ของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
โดย 7 เดือนปีงบประมาณ 65 กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้รวม 1,003,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อน 127,283 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.5% และสูงกว่าประมาณการ 12.9% หรือกว่า 114,919 ล้านบาท
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้ช่วง 7 เดือนปีงบฯ 65 อยู่ที่ 320,618 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวปีงบประมาณก่อน 11,100 ล้านบาท หรือ ลดลง 3.3% และต่ำกว่าประมาณ 7.6% หรือ 26,501 ล้านบาท
กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 61,726 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อน 2,835 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.8% และสูงกว่าประมาณการ 5% หรือ 2,926 ล้านบาท
โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และส่วนราชการอื่นต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการดำเนินมาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราวจาก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
ประกอบกับการเลื่อนนำส่งค่าใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ โทรคมนาคม (4G และ 5G) จากเดือนเมษายน 2565 ไปนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2565
อย่างไรก็ตามจากการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือนก่อนหน้านี้ (18 กุมภาพันธ์ 65 - 20 พฤษภาคม 65) ส่งผลให้รายรัฐหายไปประมาณ 17,100 ล้านบาท
ขณะที่การต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงอีก 5 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 เดือน ( 21 พฤษภาคม 65 – 20 กรกฎาคม 65) จะส่งผลต่อรายได้ของกรมสรรพสามิตหายไปอีกราว 19,822 ล้านบาท
ทั้งนี้ที่ในปีงบประมาณ 2022 รัฐบาลตั้งรายจ่ายไว้ในงบประมาณที่ 3.1 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าหมายรายได้ ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุล 7 แสนล้านบาท