“อาคม” ชี้เงินเฟ้อยังทรงตัวระดับสูง คลังอัดแล้ว 8 มาตรการช่วยเหลือประชาชน

02 ก.ค. 2565 | 08:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2565 | 16:33 น.

“อาคม” คาดเงินเฟ้อปีนี้ยังทรงตัวในระดับสูง​ชี้เป็นปัจจัยกดดันให้ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เผยอัดมาตรการทางการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ  “การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยมาตรการทางการเงินและการคลัง”  ในงาน  FTI EXPO 2022 ว่า ปัจจัยเงินเฟ้อ จะกดดันในเรื่องของการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแล​ เพราะต่างประเทศเอง​ โดยเฉพาะเฟดก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการไหลออกของเงินและการบริโภคที่ร้อนแรง

 

ทั้งนี้​ จะเห็นได้ว่า​ เศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงตั้งแต่ไตรมาสสามปีก่อนถึงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้สูงถึง​ 6-7%  แต่หลังจากเจอโอมิครอน​บวกกับสงครามยูเครน อัตราการขยายตัวก็ปรับลดลงอย่างไรก็ดี​ เมื่ออัตราเงินเฟ้อของไทยปรับเพิ่ม​ การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังก็ต้องดูแลให้เหมาะสม​
 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนมากนัก​ ซึ่งแน่นอนก็จะมีการดูแลเรื่องราคาพลังงาน​ แต่ถามว่า​ เราจะตรึงราค​าได้นานแค่ไหน​ ขณะนี้​ เราก็จะดูแลให้ตรงกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่ดูแลแบบปูพรหม​ เช่น​ เรื่องNGV ก็จะดูแลในภาคขนส่ง​ ซึ่งก็คือ​ แท็กซี่​ ส่วนก๊าซหุงต้มก็ต้องปล่อยให้ราคาขยับขึ้นบ้าง​ ด้านดีเซล​รัฐบาลก็ช่วยอยู่​ แต่ราคาก็ยังสูง​

 

“การบริหารในภาวะเงินเฟ้อ ในภาวะปกติแม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้นแต่ ภาคเอกชนก็อาจจะยังไม่ได้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตาม แต่ในช่วงนี้ระดับเงินเฟ้อขึ้นสูง ซึ่งอาจอยู่ในภาวะที่ Shock ในช่วงนี้ แต่หากภาคเอกชนบริหารต้นทุนแบบกระจาย ก็อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นราค้าสินค้า ตามระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 6 -7% อย่างในช่วงนี้ก็ได้”

 

แม้ว่าขณะนี้ระดับเงินเฟ้อในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูง แต่ระดับเงินเฟ้อของไทย ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำ  ทั้งนี้กรอบเงินเฟ้อที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน และกระทรวงการคลัง ได้ตกลงร่วมกันอยู่ที่ 1 -3% ซึ่งถือว่ามีความยืดหยุ่นที่เพียงพอสำหรับการพิจารณาอัตราดอกเบี้ย

 

ส่วนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล​ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่​ 20​ ก.ค.นี้​ เราต้องพิจารณาเรื่องของผลกระทบที่จะมีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล​ ซึ่งต้องประเมินอีกครั้ง​ แม้ขณะนี้​ ในรอบ​ 5  เดือนแรกรัฐบาลจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายก็ตาม​ นอกจากนี้​ ยังต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมันประกอบด้วย

 

"เราก็ประเมินแล้วว่า​ ราคาน้ำมันก็น่าจะอยู่ในระดับสูงต่อ  แต่ถ้าเรามีรายได้ส่วนเกิน​ เราก็จะเอาไปช่วยในการลดภาษี​ ส่วนเรื่องค่าการกลั่นนั้น​ ทางสภาอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังแล้วก็อยู่ระหว่างการเจรจา

 

ในส่วนเรื่องของค่าจ้างนั้น​ ในช่วงปลายปีจะมีการหารือกับเอกชนเพื่อปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ

 

ขณะนี้​ภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีความคึกคัก​ โดยรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการมาสนับสนุน​ ทั้งการลดหย่อนภาษีจากการจัดสัมมนาหรือเราเที่ยวด้วยกัน​ แต่มาตรการดังกล่าวในที่สุดแล้วก็ต้องทยอยลดลง​ เพราะการบริโภคจะเริ่มกลับมา​ ส่วนความช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น​ ในเรื่องของสภาพคล่องเราก็มีนโยบายให้แบงก์รัฐช่วยสนับสนุนเต็มที่

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการดำเนินมาตรการการเงินและมาตรการการคลัง มีความสอดประสานกัน ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ทำเช่นนี้ แต่ทั้งโลกก็ดำเนินโดยใช้มาตรการการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก​ รายได้ของประชาชนหายไป จากผลกระทบโควิด

 

ทั้งนี้วงเงินกู้ตาม พรก.กู้เงินฉบับพิเศษ รวม 2 ฉบับ เป็นวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทนั้น 60 -70% นำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และส่วนที่เหลือใช้ไปกับด้านการสาธารณสุข การแพทย์ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจยังไม่มาก เนื่องจากเราเจอกับการแพร่ระบาดของโควิดหลายรอบ ทำให้ต้องนำเงินมาช่วยเยียวยาประชาชน

 

ในช่วงที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการการช่วยเหลือประชาชน แล้วรวม 8 มาตรการ คือ

1.มาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV

2.มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซล

3.มาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเซล

4.มาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน

5. มาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซ LPG

6.มาตรการประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน

7.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมภายในประเทศ

8.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าในประเทศไทย 

 

โดยหลังจากการกล่าวปาฐกถา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจ” ระหว่าง นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

ด้านนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ สอดรับกับนโยบายการเปิดประเทศ และการส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน  ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลาง การเชื่อมโยงเงินทุน และโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SMEs” ใน  2 บทบาท 

 

บทบาทแรก การเป็น Credit Enhancer ออกหนังสือค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ใช้แทนหลักประกันในการยื่นกู้กับสถาบันการเงิน เป็นการลดต้นทุนด้าน Credit หรือ Credit Cost

“อาคม” ชี้เงินเฟ้อยังทรงตัวระดับสูง คลังอัดแล้ว 8 มาตรการช่วยเหลือประชาชน

บทบาทที่สอง คือ การเป็นศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน F.A. Center และหมอหนี้ เพื่อให้คำปรึกษาทางการเงิน Financial Literacy ไม่ว่าจะเป็นด้านการขอสินเชื่อ ด้านการพัฒนาธุรกิจ ด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และการแก้ไขหนี้ ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ผ่านมา F.A. Center ได้ให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือ SMEs ไปแล้วมากกว่า 8,000 ราย นับเป็นความต้องการวงเงินสินเชื่อกว่า 10,000 ล้านบาท

 

การลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการดำเนินธุรกิจ” ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ บสย. ในวันนี้ จะเป็นอีกก้าวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอบรับการเปิดประเทศ เพื่อผลักดันการเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเป็นผู้ผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถรักษาเสถียรภาพของธุรกิจและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือกับ บสย.

“อาคม” ชี้เงินเฟ้อยังทรงตัวระดับสูง คลังอัดแล้ว 8 มาตรการช่วยเหลือประชาชน

โดย  บสย. จะสนับสนุนด้านความรู้ทางการเงินและธุรกิจ ดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิก ส.อ.ท. ให้เข้าถึงแห่งทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพยกระดับศักยภาพด้านต่างๆ ได้แก่ การให้คำปรึกษาด้านการเงิน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs  หรือ บสย. F.A. Center ทั้งด้านการเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ การบริหารจัดการเงินทุน การปรับโครงสร้างหนี้ และการพัฒนาธุรกิจ

 

ซึ่งในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีสมาชิกของ ส.อ.ท. ให้ความสนใจรับคำปรึกษาด้านการเงินภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวกว่า 200 บริษัท การอบรมให้ความรู้ “รู้ข้อดีบัญชีเดียว พร้อมตัวช่วย” และ “การวิเคราะห์งบการเงินสำหรับ CEO “ ซึ่งหลังจากนี้จะให้ความร่วมมือในกิจกรรมอื่นๆ ทั้งการช่วยเหลือด้านการค้ำประกันสินเชื่อแก่สมาชิก ส.อ.ท. การพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ อาทิ ด้านการตลาดและเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในกระบวนการผลิต การส่งเสริมและผลักดันสมาชิกสู่ BCG ECONOMY MODEL