ทีดีอาร์ไอ หวั่นรัฐใช้ 2 บอร์ดแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ปูทางหาเสียง

10 ก.ค. 2565 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 12:41 น.

ทีดีอาร์ไอ ห่วง 2 บอร์ดแก้วิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาลไร้พลังอำนาจ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง จี้วางกรอบช่วยเหลือให้ชัดเจน มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หวั่นออกมาตรการปูทางหาเสียง

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยทีดีอาร์ไอ)เปิดเผยว่า การจัดตั้งคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจของรัฐ ด้านเศรษฐกิจ 2 ชุดของรัฐบาล คงเป็นปัญหาเดียวกับการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ที่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการที่ถูกจัดตั้งขึ้น ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง หรือให้ข้อเสนอได้จริง

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

“ในแง่พื้นฐาน ที่เวลาต้องจะแก้ไขปัญหาอะไรจะตั้งทีมงานชุดทำงานพิเศษ ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแล ถือว่า มาถูกทางแล้ว แต่ประเด็นสำคัญ คือ คณะกรรมการที่ได้รับการจัดตั้ง ไม่ได้มีอำนาจด้วยตนเอง โดยอำนาจไปอยู่ที่คนที่อยู่ด้านบน คือผู้ที่มีอำนาจต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่ามีปัจจัยหรือความเกี่ยวข้องในด้านการเมืองเรื่องฐานเสียงที่เข้ามากระทบ หรือแทรกแซงอำนาจ ทำให้นโยบายที่ออกมานั้น ไม่ได้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น ถือเป็นจุดด้อยของการทำงานในลักษณะเช่นนี้” นายนณริฏกล่าว

สำหรับการทำนโยบายทำได้มีหลายวิธี และหลากหลายรูป แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือ ควรมีนักวิชาการที่เข้ามาให้คำปรึกษาและช่วยทำให้นโยบายหรือข้อเสนอมีความสมดุลว่า มาตรการที่ออกมาไม่ได้ใช้งบประมาณมากเกินไป ไม่ทำให้เกิดหนี้สาธารณะมากเกินไป และอาจจะต้องมีหลักการที่ว่า ประชาชนต้องเข้ามาช่วยแบกรับด้วยบางส่วน มาตรการที่ออกมาจะต้องไม่ไปช่วย แต่ต้องประคองตัวเองไหว และมุ่งไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเท่านั้น

 

รัฐบาลควรมีการวางกรอบช่วยเหลือให้ชัดเจน จะได้ไม่มีการผันเปลี่ยนของมาตรการ และยิ่งอยู่ในช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งมากๆ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่นโยบายหรือมาตรการที่ออกมา แทนที่จะช่วยเหลือคนที่เปราะบาง และต้องประหยัดงบประมาณ จะกลายเป็นนำงบไปใช้เพื่ออุดหนุนคนบางกลุ่ม เพื่อให้ได้ฐานคะแนนเสียงมา ซึ่งไม่ต้องการให้ภาพแบบนี้เกิดขึ้น

สำหรับมาตรการที่ผ่านมาของรัฐบาลก็เห็นด้วยบางส่วน อาทิ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การช่วยราคาน้ำมันดีเซล คนละครึ่ง หรือมาตรการลดค่าใช้ไฟฟ้า ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ แต่สิ่งที่ไม่ชอบคือ การแทรกแซงกลไกต่างๆ เช่น การแทรกแซงกลไกของระบบประกันสังคม เป็นต้น