ท่ามกลางการจับตาผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 10 สิงหาคมนี้ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราใด ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ แต่มีปัจจัยกดดันดอกเบี้ยเพิ่มคือ การกลับมาใช้อัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF)ในอัตรา 0.46% หลังลดอัตรานำส่งเหลือ 0.23% ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธนาคาร ทหารไทยธนชาต(ทีทีบี)หรือ ttb Analytics เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนที่ออกมาดีและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาส 2 มีโอกาส Up-Side จากที่เข้ามา 8 ล้านคน ถ้าข้อมูลเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง อาจจะทำให้กนง.ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% เพื่อป้องกันเงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคต
การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท เพราะไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากเกาหลีใต้ที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% จากที่อยู่ระดับเดียวกับไทย 0.50% แต่ค่าเงินวอนยังอ่อนค่า 8.83% อ่อนค่ากว่าไทยที่เงินบาทอ่อนค่า 7.3%
“ฉะนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นกับความเร็วของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และไม่ใช่เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ย เพราะกนง.ขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรก็ไม่ทันอัตราของธนาคารกลางต่างประเทศ เชื่อว่ากนง.จะไม่เล่นเกมนี้ ส่วนตัวยังมองว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายใน 3 ครั้งที่เหลืออย่างน้อยครั้งละ 0.25% เพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดี”นายนริศกล่าว
นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (ESU) มองภาพรวมว่า กนง.มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% โดยปีนี้จะปรับขึ้นในอัตรา 0.75% และปี 66 อีก 0.75% เพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.00% เนื่องจากผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เน้นย้ำว่า จะเป็น Smooth talkoff หากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมออกมาไม่เกิน 2 หลัก ซึ่งการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ กนง.ยังให้น้ำหนักขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเริ่มจาก 0.25% ด้วยเหตุผลเศรษฐกิจไทยที่ค่อยๆฟื้นตัว
ส่วนแนวโน้มก่อนจะถึงการประชุมเดือนกันยายนยังรอดูพัฒนาจาก 4 ปัจจัยคือ
“ปัจจัยเหล่านี้จะสะท้อนความเสี่ยงด้านต้นทุน และกำลังซื้อของครัวเรือน สิ่งสำคัญคือ จะทำให้เกิดคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตส่งผลต่อการผลักภาระให้ผู้บริโภค และจะมีผลต่อประมาณการเงินเฟ้อของธปท. ถ้าเงินเฟ้อเกิน 3% จะเกินกรอบเป้าหมาย 2 ปี อาจมีโอกาสที่กนง.จะเปลี่ยนจุดยืนเข้มงวดมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน อาจเห็นกนง.บางคนโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งมติจะไม่เป็นเอกฉันท์”นายธรรมรัตน์กล่าว
สำหรับค่าเงินบาทระยะต่อไป หากเฟดลดคันเร่งไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงเหมือนที่ผ่านมา แรงกดดันจะลดทอนลงไม่ทำให้สกุลเงินต่างๆรวมถึงเงินบาทอ่อนค่ามาก ส่วนในประเทศเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยและปัจจัยพื้นฐานที่คาดหวังรายได้จากภาคบริการจะเพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไตรมาส 4 ทำให้แรงกดดันอ่อนค่าของเงินบาทจะจำกัด
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า น่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังการประชุมกนง. เพราะธปท.ต้องการส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ส่วนในการประชุม 10 สิงหาคมนี้ แม้กนง.จะมีตัวแทนจากธปท. 3 คน ซึ่งยึดนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่ได้คุมเสียงข้างมาก ถ้าทุกคนมองเงินเฟ้อจะขึ้นแรง อาจจะโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50%
สำหรับธนาคารพาณิชย์จะเริ่มเห็นผลกระทบในครึ่งปีหลัง และปีหน้าจะถูกซ้ำเติมจากภาระที่กลับมานำส่งเงินสมทบ FIDF ในอัตรา 0.46% ซึ่งอัตราที่เพิ่มขึ้น 0.23% นั้นเป็นภาระดอกเบี้ยเกือบ 4 หมื่นล้านบาท หากเทียบจากฐานเงินกู้ตกประมาณหลักล้านล้านบาท ซึ่งปกติธนาคารต้องบริหารส่วนต่างดอกเบี้ยและความเสี่ยง แต่ปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์(ROA)ของสินเชื่อเหลือไม่ถึง 1.0% ดังนั้นเพิ่มเงินนำส่ง FIDF อีก 0.23% จึงเป็นภาระที่่ต้องผ่องถ่ายออกไป โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยทันทีในครั้งเดียว
“ที่ผ่านมาธปท.ผ่อนปรนให้ลดเงินนำส่ง 0.23% ทางแบงก์ได้ลดดอกเบี้ยตระกูล M ได้ 0.40% ดังนั้นเมื่อธปท.ปรับเพิ่มเงินนำส่งเป็น 0.46% แบงก์ก็ต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ในตระกูล M ทันที ซึ่งต่างกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ทยอยปรับขึ้น ฉะนั้นต้นปีหน้ามีโอกาสสูงมากที่แบงก์จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.46%”
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% และอาจจะขึ้นอีกเป็นสเต็ปๆ ซึ่งภาคเอกชนไม่ขัดข้อง หากจะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯไม่ให้ทิ้งห่างมากเกินไป (สหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 4 รอบ ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2.25-2.50% ไทย 0.50%)
“บริบทการขึ้นดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐต่างกัน สหรัฐฯขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่วนไทยเพื่อสกัดเงินทุนไหลออกและรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ามากเกินไป แต่หากขึ้นมากหรือขึ้นแบบหวือหวา ต้องระมัดระวังอย่าให้ต้นทุนสูงเกินไป จนผู้ประกอบการไปไม่ไหว”นายเกรียงไกรกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,806 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565