ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability) มาอย่างต่อเนื่องโดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล
พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันโดยครอบคลุมใน 3มิติคือ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคมและมิติธรรมาภิบาล
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)เปิดเผยว่าปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน 50,000ล้านบาท เน้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร
สำหรับปีนี้ครอบคลุม 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร และเตรียมขยายการทำงานร่วมกับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ตามลำดับ
และในปีหน้าจะขยายเพิ่มอีก 2กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วน 40% ด้วยการเสนอแคมเปญจูงใจให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนธุรกิจหรือยกระดับธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน
สำหรับปี2565คืบหน้าปล่อยเป้าสินเชื่อแล้ว 16,000ล้านบาทจากเป้า 25,000ล้านบาทและเตรียม จัดสรรเงินทุนด้านความยั่งยืนรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่องรวม 200,000 ล้านบาทภายในปี 2573
ขณะเดียวกันมุ่งให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วยการออกแคมเปญสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ให้เข้าถึงลูกค้า 10 ล้านรายภายในสิ้นปี 2566
ที่ผ่านมา ณเดือนกันยายน ธนาคารสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายเล็กกว่า 5 แสนราย มูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าขยายสินเชื่อรายเล็กให้ได้ 1.9 ล้านราย ภายในปี 2568 โดยลูกค้ารายเล็กเป็นลูกค้าบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000บาท/เดือน ซึ่งอาจไม่มีบัญชีเงินเดือนประกอบอาชีพอิสระไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยธนาคารจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นๆประกอบ รวมถึงลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 2.5ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ในมิติธรรมาภิบาล ธนาคารให้ความสำคัญเรื่องเกณฑ์การพิจารณาตามหลัก ESG เพื่อดูแลให้สินเชื่อที่ปล่อยไปจะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบแก่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนนี้ กว่า 340,000 ล้านบาท