ค่าเงินบาทปิดตลาดวันที่26ก.ค.ที่ระดับ 36.05 บาทต่อดอลลาร์

26 ก.ค. 2567 | 12:08 น.
อัพเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2567 | 12:13 น.

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก กรอบการเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้า 29 ก.ค.-2 ส.ค. ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ระดับ 35.85-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทแข็งค่ามาปิดตลาดที่ระดับ 36.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ (ซึ่งในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีก 7,697 ล้านบาท แต่ยังคงมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยเล็กน้อยที่ 147.66 ล้านบาท) 

ขณะที่ Sentiment เงินดอลลาร์ฯ ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นก่อนการรายงานตัวเลขดัชนีราคา PCE/Core PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดติดตาม

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -27.24 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -24.06 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (29 ก.ค.-2 ส.ค.) ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ระดับ 35.85-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC (30-31 ก.ค.) BOJ (30-31 ก.ค.) และ BOE (1 ส.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิ.ย. ของธปท.

และประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนมิ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี ISM และ PMI ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน