"จำนำ iCloud" สุดอันตราย เสี่ยงถูกแบล็กเมล์ เรียกค่าไถ่ มีคดีติดตัว

02 ก.ย. 2567 | 21:56 น.

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย "จำนำ iCloud" สุดอันตราย เสี่ยงถูกแบล็กเมล์ เรียกค่าไถ่ ซ้ำถูกแก๊งมิจฉาชีพแอบอ้าง ก่ออาชญากรรมออนไลน์ สุดท้ายกลายเป็นผู้ต้องหา มีคดีติดตัว

จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการกู้ยืมเงินนอกระบบรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ นั่นก็คือ “การจำนำ iCloud” โดยลูกหนี้ไม่ต้องฝากโทรศัพท์ไว้กับผู้ให้ให้กู้ แต่ให้ยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน และนำบัญชี iCloud ของผู้ให้กู้มาเข้าระบบไว้ในเครื่องเพื่อเป็นการค้ำประกัน 

พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร รองผู้กำกับวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าขณะนี้เริ่มมีคดีเกี่ยวกับการจำนำ iCloud บ้างแล้ว ในลักษณะที่ลูกหนี้จ่ายหนี้ครบแล้ว แต่เจ้าหนี้กลับไม่ปลดล็อก iCloud ให้ บ้างก็ถูกเรียกเงินเพิ่มเพื่อปลดล็อก iCloud ลักษณะคล้ายการเรียกค่าไถ่ แต่ขณะนี้ความเสียหายยังไม่มาก แต่อนาคตมีความเสี่ยงมหาศาล

สิ่งที่เป็นความย้อนแย้งในคดีเหล่านี้คือ ผู้ที่เป็นลูกหนี้มักระบุว่า นำ iCloud ไปจำนำ แต่ไม่ยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ซึ่งในความเป็นจริง หากมีการส่งมอบรหัสของเราให้ผู้อื่น หรือนำรหัสผู้อื่นมาใส่ในเครื่องของเรา จะมีความเสี่ยงตามมาอีกมากมาย และเป็นไปได้ยากที่จะไม่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว

ต้นตอของปัญหาเช่นนี้เกิดจากการที่คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก จึงมองหาช่องทางกู้ยืมเงิน ซึ่งผู้ให้กู้นอกระบบเหล่านี้ ก็มักคิดนวัตกรรมหนี้นอกระบบออกมาเสมอ ในอดีตจะเป็นเรื่องแอปฯเงินกู้เถื่อน ที่ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ใดๆ เพียงแค่ให้ผู้กู้ติดตั้งแอปฯในโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

แต่นั่นคือช่องทางที่ทำให้แก๊งมิจฉาชีพได้ข้อมูลส่วนตัวในเครื่องไปทั้งหมด ซึ่งการ การจำนำ iCloud ก็ความเสียหายในลักษณะเดียวกัน และเป็นช่องทางในการนำข้อมูลส่วนตัวที่นอกเหนือจากเลขบัตรประชาชน ไปใช้แอบอ้างหลอกลวงผู้อื่นว่าเป็นคนรู้จัก เช่น รู้ชื่อเล่น รู้ว่าใครเป็นเพื่อน พี่ น้อง สามี ภรรยา เป็นต้น

ดังนั้นอันตรายจากการจำนำ iCloud มีทั้งเรื่องที่ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดรั่วไหล หากโทรศัพท์เครื่องนั้นเป็นขององค์กร หน่วยงาน ก็อาจทำให้ข้อมูลองค์กร หน่วยงานรั่วไหลไปด้วย ต่อมาก็เสี่ยงจะถูกเรียกค่าไถ่ ไปจนถึงการขายข้อมูลให้กับแก๊งมิจฉาชีพ แล้วถูกนำกลับมาหลอกลวงตัวลูกหนี้เอง กระทั่งนำไปใช้หลอกลวงผู้อื่นซึ่งอาจทำให้ชื่อของเราตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว

แต่หากผู้ใดที่ได้ทำการจำนำ iCloud ไปแล้ว พ.ต.ท.ธนธัส แนะนำว่าควรนำใบเสร็จการซื้อโทรศัพท์มือถือของเรา ไปติดต่อผู้ให้บริการ เพื่อดำเนินการแก้ไข ซึ่งหากโทรศัพท์ถูกล็อก อาจรีเซ็ทโทรศัพท์ใหม่แล้วสามารถใช้งานเครื่องได้ แต่เป็นคนละส่วนกันกับการได้ข้อมูลคืน จึงไม่ควรนำ iCloud ไปจำนำ เพราะข้อมูลส่วนบุคคลมีมูลค่าสูงมากจึงต้องหวงแหนให้มากที่สุด และอย่าไว้ใจใคร ส่วนกฎหมายที่ควบคุมได้ เช่นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งต้องดูเป็นรายกรณี