การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 16 ต.ค. 2567 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 5 ของปี้นี้ และจะมีการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูปช่องฐานเศรษฐกิจ ได้สนทนากับ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย และอดีตคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการดำเนินมาตรการทางการเงินของ ธปท.
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับประเทศไทยควรจะอยู่ที่ระดับ 2% และคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมารตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งหากไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ย
ดังนั้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้สูงอย่างที่ กนง.วิตกกังวล และ อัตราเงินเฟ้อโดยรวมโดยเฉลี่ยเนี่ยก็ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของแบงก์ชาติ จึงมีเหตุผลมากพอที่จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ ส่วนจะลดเท่าไหร่ ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินที่เขาจะตัดสินใจว่าจะเป็นเท่าไหร่ และจะลดเมื่อไหร่
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหาก กนง.ไม่มีการปรับลดอัตรดอกเบี้ยนโยบายลง ดร.อนุสรณ์ฉายภาพว่า ประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจก็จะแบกรับภาระดอกเบี้ยการผ่อนชำระบ้าน ผ่อนชำระรถยนต์ซึ่งก็มีภาระหนักอยู่แล้ว หลายคนก็ประสบปัญหาเรื่องอุทกภัย มีความเดือดร้อนมาก ในขณะที่ภาคธุรกิจต้นทุนทางการเงินก็จะไม่ลดลง แต่หากกังวลเรื่องการลงทุนเกินตัวหรือการก่อหนี้เกินตัว ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นความเสี่ยงหรือน่าวิตกในขณะนี้
การลดอัตราดอกเบี้ยยังส่งผลต่อสภาวะที่เงินบาทแข็งค่า โดยการที่ ธปท.ใช้กลไกผ่านทางตลาดการเงิน ตลาดปริวรรตเงินตรา ด้วยการที่ขายบาทแล้วก็ซื้อดอลลาร์เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลง ธปท. ก็ต้องไปทำ Sterilization ก็คือต้องดูดเงินกลับ เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ลดลง แต่ถ้าแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย ผลของการแทรกแซงก็จะดีกว่า ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ก็ทำมาตลอด ไม่เช่นนั้นเงินบาทจะแข็งค่ามากกว่านี้ แต่ถ้าลดดอกเบี้ยด้วย แรงกดดันตรงนี้ก็จะลดลงทันที
เมื่อถามถึงความเป็นอิสระของ ธปท. ในการดำเนินนโยบายการเงิน ดร.อนุสรณ์ให้ความเห็นว่า ความเป็นอิสระของแบงก์ชาตินั้นไม่ใช่เป็นอิสระแบบเป็นรัฐอิสระ เพราะว่าแบงก์ชาติเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกของรัฐไทย ฉะนั้นมีความเป็นอิสระในการดำเนินการ เรียกว่า operational independence ไม่ใช่เป็นอิสระโดยสมบูรณ์
เนื่องจากกระทรวงการคลัง และ ธปท. ต้องร่วมกันกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แล้วธปท.ต้องไปตกลงว่าจะบริหารนโยบายการเงินเพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบตามเป้าหมาย พอรับเป้าหมายไปแล้ว ธปท.ต้องมีอิสระในการดำเนินการตามเป้าหมาย ซึ่งตอนนี้ได้หลุดเป้าหมายด้านล่าง คืออัตราเงินเฟ้อด้านล่างต่ำกว่า 1% ฉะนั้นต้องเป็นความรับผิดชอบของแบงก์ชาติ ที่จะต้องมาดูว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงินหรือไม่
ซึ่งหากยังยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพราะว่าดอกเบี้ยมันมีผลในวงกว้าง แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะเลือกใช้มาตรการอื่นก็สามารถทำได้อย่างเป็นอิสระ แต่ต้องบริหารให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ