สภาอุตฯ-หอการค้า หวัง กนง.ลดดอกเบี้ย ครั้งแรกรอบ 1 ปี ช่วยลดภาระต้นทุน

10 ต.ค. 2567 | 22:21 น.

บิ๊กเอกชนลุ้นประชุม กนง. 16 ต.ค.นี้ หวังมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรก หลังคงไว้ที่ 2.50% มานานกว่า 1 ปี สอดคล้องทิศทางดอกเบี้ยโลกขาลง หวังช่วยลดต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง ชี้เป็นหนึ่งปัจจัยช่วยภาคธุรกิจอยู่รอด จากปัจจุบันต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอื้อ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน  (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะมีการประชุมครั้งล่าสุดในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นี้ หลายฝ่ายจับตาจะมีพิจารณาและลงมติเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศลงหรือไม่ จากที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี มานานกว่า 1 ปี (คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% มาตั้งแต่การเดือน ส.ค.2566) ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชนคาดหวังในการประชุม กนง.ที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ จะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ และประชาชนที่กู้ยืมเงิน สามารถลดภาระดอกเบี้ยลง และช่วยเพิ่มสภาพคล่อง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบอยู่มาก เฉพาะอย่างยิ่งหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนขาดกำลังซื้อ ผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง ขณะที่ภาคการส่งออกเผชิญเสี่ยงจากสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากเงินริงกิตของมาเลซีย ส่งผลทำให้สินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง ในรายที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (ฟอร์เวิร์ด) อาจถึงขั้นขาดทุน

ทั้งนี้ได้ส่งผลตามมาถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการที่ยังมีต้นทุนทางการเงินที่สูง จากที่ต้องไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาขับเคลื่อนธุรกิจ ดังนั้นในการประชุม กนง.ที่จะมีขึ้นในครั้งนี้อยากให้ กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการ และประชาชนที่ไปกู้หนี้ยืมสินจากสถาบันการเงินมา และเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของโลกที่เป็นช่วงขาลง อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งล่าสุดถึง 0.50% และเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลถึงเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นมากในเวลานี้ และกระทบภาคส่งออก
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“เวลานี้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลของไทยมีมากขึ้น เห็นได้สถาบันการเงินมีการยึดบ้าน ยึดรถ เพื่อขายทอดตลาดมากขึ้น จากภาคธุรกิจและประชาชนขาดกำลังซื้อ และรอรัฐบาลเข้ามาแก้ไข ซึ่งในส่วนของดอกเบี้ยเราก็มีความคาดหวังว่า กนง.จะปรับลดลงในการประชุมรอบนี้ หรืออย่างช้าในต้นปีหน้า หากลดดอกเบี้ยลงได้จะเป็นการช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้กู้ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหลาย และที่สำคัญการลดดอกเบี้ยจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทของเราอ่อนค่าลงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก”

สอดคล้องกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า ดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต้องแบกรับ หากมีการปรับลดลงได้อีกก็จะช่วยได้มาก ซึ่งภาคเอกชนได้สะท้อนเรื่องนี้มามากแล้ว และทาง กนง.ก็ได้รับรู้ รับทราบแล้ว แต่จะตัดสินใจอย่างไรนั้นคงไม่อาจไปก้าวล่วง ต้องรอผลการพิจารณา และเคารพในมติที่จะออกมาในวันที่ 16 ตุลาคมนี้
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ขณะที่นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ในการประกอบธุรกิจ เรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนี้ถูกกำกับดูแลโดยคณะกรรมการ กนง.ของแบงก์ชาติ ในฐานะผู้ประกอบการมองว่า ดอกเบี้ยของไทยสูงมานานมากแล้ว เห็นว่าน่าจะมีการปรับลดลงบ้าง