อสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ราคาที่อยู่อาศัยปรับสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ของประชาชน
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แซนด์ แอนด์ สโตน จำกัด เผยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมา รวมถึงต้นทุนการก่อสร้าง ค่าแรง และค่าวัสดุเพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่งผลให้ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นตาม ขณะที่รายได้ของประชาชนยังไม่มีการเติบโตที่สอดคล้องกับราคาบ้านที่ปรับขึ้น ดังนั้นปัญหาใหญ่ของอสังหาริมทรัพย์คือฝั่งดีมานด์ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ
"แนวโน้มในปีหน้าอาจจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง แต่ต้องดูปัจจัยสำคัญ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้าง รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและการขนส่ง"
นายสุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า แม้ว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ความท้าทายที่แท้จริงของตลาดบ้านจัดสรรคือความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
ปัจจุบันปัญหาหลักในการซื้อที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่เรื่องการเงินที่ไม่เพียงพอ แต่เป็นการที่ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น จากเดิมที่เคยปฏิเสธ 10-15% ของผู้ขอสินเชื่อ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 35-60% ในบางโครงการ
โดยเฉพาะโครงการบ้านที่มีราคาค่อนข้างถูก การเข้าถึงสินเชื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากภาครัฐสามารถสนับสนุนการออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้ จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมาก
นายสุนทร ยังเสริมว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายได้ปรับตัวลดราคาบ้านในบางระดับ และใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุนการก่อสร้าง เพื่อให้บ้านยังคงมีราคาที่ผู้บริโภคเอื้อมถึง
แต่สิ่งที่คาดหวังจากภาครัฐคือมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น การผ่อนปรนมาตรการ LTV (Loan to Value) และการขยายระยะเวลาลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น
ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า แม้ในช่วงไตรมาสสามที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีการชะลอตัวอย่างมาก แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่มีแนวโน้มในการฟื้นตัว
เนื่องจากมองว่าตลาดกำลังจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดที่ต่ำที่สุดขึ้นมา ไม่จะเป็นภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ภัยธรรมชาติ หรือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะปรับตัวและฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว
ประกอบกับมีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่หลายแห่งกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ที่สร้างเสร็จและพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ยังคงมีอยู่ ไตรมาสนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเวลาเดียวที่จะลดดอกเบี้ย และปลดล็อก LTV
"การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้จะเป็นจุดสำคัญที่น่าจับตามอง หากมีการปรับลดดอกเบี้ย และผ่อนปรนมาตรการ LTV จะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ของโครงการเหล่านี้มีเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ และกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น"
แม้ในภาพรวมของทั้งปี 2567 นี้ตลาดอสังหาฯ ยังพอทรงตัวได้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ทั้งนี้ นายกทั้ง 3 สมาคมอสังหาฯ ยังมีความเห็นตรงกันว่าแนวโน้มในต้นปี 2568 จะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น
จากปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสามสนามบิน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
พร้อมทั้งมองว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการออกนโยบายทางการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนมาตรการ LTV จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ไทยฟื้นตัวได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น