ค่าเงินบาทปิดตลาดวันที่ 25ต.ค.ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์

25 ต.ค. 2567 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2567 | 11:53 น.

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค และการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก -กรอบในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่28 ต.ค.-1 พ.ย. ประเมินเบื้องไว้ที่ 33.50-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค และการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อาทิ ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเล็กน้อย 39.09 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 658 ล้านบาท

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2567 จากเว็บไซต์ ธปท. อยู่ที่ -23.52 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -19.98 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (28 ต.ค.-1 พ.ย.) ประเมินเบื้องไว้ที่ 33.50-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออก/รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนต.ค. มาตรวัดตลาดแรงงานจาก JOLTS ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ย.

และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการเลือกตั้งทั่วไปญี่ปุ่น (27 ต.ค.) ผลการประชุม BOJ (30-31 ต.ค.) ดัชนี PMI เดือนต.ค. ของจีน รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน