นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยว่า สบน. มีบทบาทสำคัญในการระดมทุนจำนวนมากในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาสู่สภาวะปกติ ทำให้ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขความต้องการกู้เงิน (Funding Need) รวมของรัฐบาลสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดและมากกว่าในสถานการณ์ปกติถึง 2 เท่า
ทั้งจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการกู้เงินปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการกู้เงินตามปกติเพิ่มสูงขึ้น ยังต้องกู้เงินผ่านพระราชกำหนดโควิด-19 อีก 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งรัฐบาลของประเทศ อื่นๆ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ก็ได้ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อต่อสู้กับวิกฤติดังกล่าวด้วยการใช้เงินกู้เป็นเครื่องมือสำคัญเช่นกัน
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนส.ค.65 มีหนี้สาธารณะคงค้าง 10.31 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 60.7% ต่อ GDP และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ โดยหนี้สาธารณะคงค้างเกือบ 70% เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เพื่อการลงทุน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเช่นเดียวกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา โดยวงเงินกู้เพื่อการลงทุน (ไม่รวมเงินกู้ COVID-19) ช่วงปี 2563 -2565 เฉลี่ยปีละประมาณ 881,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ปี 2562) ที่มีวงเงินกู้เพื่อการลงทุนประมาณ 652,000 ล้านบาท
สำหรับระยะ 5 ปี (2566 – 2570) สบน.มีแผนการกู้เงิน เพื่อการลงทุนด้านคมนาคม พลังงาน สาธารณูปการ สาธารณสุข การศึกษาและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมกว่า 898,000 ล้านบาท โดยการใช้กลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลางและเครื่องมือการกู้เงินหลากหลาย (Diversified Instrument) เพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะอยู่ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศว่าการบริหารหนี้สาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี การบริหารหนี้สาธารณะของสบน.ในระยะต่อไปยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งสภาวะตลาดการเงินที่ผันผวนและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งสบน. ต้องประสานงานกับ ธปท. อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินให้เพียงพอสำหรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์การระดมทุนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป
โดยเน้นกระจายเครื่องมือการกู้เงินพร้อมกับยืดอายุเครื่องมือในการระดมทุน เพื่อรองรับความผันผวนและผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทน (Yield) ในประเทศในอนาคต พร้อมกับทยอยปรับโครงสร้างหนี้และชำระหนี้ล่วงหน้า (Prepayment) ตลอดจนดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการกระจุกตัวของหนี้และลดความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้และความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยของพอร์ตหนี้ของรัฐบาล และผลกระทบต่อตลาดการเงินในประเทศ
รวมถึงการของบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐเพิ่ม เพื่อให้พอเพียงและสอดรับกับภาระหนี้ ที่เพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณสำหรับภาระดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลและเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
“ขอเน้นย้ำว่า การกู้เงินของรัฐบาลหรือการก่อหนี้สาธารณะยังคงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
ทั้งนี้ สบน. ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุนและดำเนินมาตรการทางการคลังภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งชำระหนี้อย่างเคร่งครัดและครบถ้วนตามกรอบวินัยทางการคลัง และไม่ว่าในอนาคตประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์ใด สบน. ก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างคนไทย เพื่อเป็นเสาหลัก ในด้านการจัดหาเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศต่อไป
“เราเน้นการปฏิบัติงานบน Digital Platform โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และบริหารหนี้สาธารณะทุกมิติ ตั้งแต่การวางแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ตลอดจนกระบวนการกู้เงิน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน รวมถึงใช้ในการวิเคราะห์ จัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันการณ์และมีประสิทธิภาพ”นางแพตริเซียกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,827 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565