Fitch Ratings คงอันดับเครดิตไทยที่ BBB+

30 พ.ย. 2565 | 10:44 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 17:44 น.

Fitch Ratings ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)

 

  • Fitch คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเติบโตที่ 3.3% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (Peer) ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ
  1. การฟื้นตัวอย่างมากของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 10.3 ล้านคนในปี 2565 เป็น 24 ล้านคน ในปี 2566 เนื่องจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
  2. การประกาศปรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากการเป็นโรคติดต่อร้ายแรง (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic)
  3. อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและอัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย

 

  • ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากมีกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง โดย Fitch คาดว่า

 

  1. การขาดดุลงบประมาณของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องลดลงตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายจาก 6.8% ในปี 2564 เป็น 4.9% และ 3.8% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ และคาดว่า จะยังอยู่ในระดับดังกล่าวในระยะต่อไป
  2. ระดับการขาดดุลดังกล่าว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับมีเสถียรภาพและรัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังที่สามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต (Shock)
  3. รัฐบาลสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศได้ทุกสถานการณ์ และหนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทจึงช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และคาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง   
  • ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่น แม้ในปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้อยละ 3.2 แต่ Fitch คาดว่า

 

  1. ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล (Surplus) เป็นร้อยละ 1.9 และ 3.7 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
  2. มีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในปี 2566 จำนวน 6.9 เดือน ซึ่งสูงกว่า Peers ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.6 เดือน

 

ประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การดำเนินมาตรการด้านอัตราเงินเฟ้อ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง